กระบวนการต่อรองในการผลิตภาพยนตร์ เชิงสังเกตการณ์ผ่านปฏิบัติการสังคม: กรณีศึกษาการคัดค้านการขยายท่าเรือแหลมฉบัง เฟสสาม ชุมชนบางละมุง จังหวัดชลบุรี
บทคัดย่อ
บทความวิจัยนี้ได้ศึกษาวิจัยกระบวนการถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The Third Eye โดยมีวัตถุประสงค์สองประการคือ (1) เพื่อศึกษากระบวนการต่อรอง ในการผลิตภาพยนตร์เชิงสังเกตการณ์ ระหว่าง “คนนอก” คือ นักวิจัย (ผู้ผลิต ภาพยนตร์) และตัวละคร (subjects) ซึ่งเป็น “คนใน” ชุมชน ในแง่ประเด็น เนื้อหา เทคนิคการถ่ายทำ และ (2) เพื่อสำรวจทุนที่นำมาใช้ในกระบวนการต่อรอง เพื่อ ผลิตภาพยนตร์สารคดีเชิงสังเกตการณ์ ซึ่งประกอบด้วยทุนทางวัฒนธรรม ทุนทาง สังคม ทุนทางสัญลักษณ์ และทุนทางเศรษฐกิจ ของทั้งนักวิจัยซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ชุมชน และตัวละครและแกนนำชุมชนซึ่งเป็นคนภายในชุมชน
ผลการศึกษาพบว่า การถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีเชิงสังเกตการณ์ แม้ว่าโดย หลักการแล้วคือ การปล่อยให้มีเสียงที่หลากหลายปรากฏในภาพยนตร์ ไม่ใช่การ ครอบงำจากทีมงานผู้ผลิต แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในกระบวนการผลิตและเผย แพร่ภาพยนตร์สารคดีก็คือ “สนามปฏิบัติการ” (field) ที่มีการช่วงชิง ต่อรอง โดย ใช้ทุนประเภทต่างๆ ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ ผลการศึกษาชี้ว่า ทีมงานผู้ผลิตและผู้วิจัยจะมีทุนทางวัฒนธรรมที่ เป็นวัตถุต่างๆ (objectified state) เช่น อุปกรณ์การถ่ายทำภาพยนตร์ และ ทุนทางวัฒนธรรมเชิงสถาบัน (institutionalised state) ในฐานะอาจารย์ มหาวิทยาลัย ส่วนชาวบ้านจะมีฮาบิทัส (habitus) และทุนทางวัฒนธรรม (cultural capital) คือ ทุนด้าน embodied state หรือความโน้มเอียงทางอุปนิสัย (disposition) ของแต่ละบุคคลที่ถูกปลูกฝังผ่านการอบรมสั่งสอนทางสังคม (socialisation) ซึ่งเป็นทุนที่ชาวบ้านใช้ในการต่อรองอย่างมาก เช่น ตัวละครหลักคือ ลุงบรรจบ ช่างทอง ชาวประมงตาบอดพูดน้อย เป็นผู้ที่ใช้ทุนด้าน embodied state คือความ เชี่ยวชาญและทักษะในการทำประมงซึ่งถือเป็น “ปฏิบัติการในชีวิตประจำวัน” ที่ใช้ ต่อสู้ต่อรอง และสร้างความหมายของ “คนใน” ผ่านสื่อภาพยนตร์ ซึ่งเป็น “สนาม ปฏิบัติการทางสังคม” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ