การใช้สื่อสังคมออนไลน์สะท้อนภาวะซึมเศร้าของผู้ใช้งานวัยรุ่น

ผู้แต่ง

  • กมลมาศ ชาญวิเศษ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • อรรคพล วงศ์กอบลาภ สำนักวิชาศาสตร์และศิลป์ดิจิทัล มหาวิทยาลัยเทคโนโลนีสุรนารี

คำสำคัญ:

สื่อสังคมออนไลน์ , ภาวะซึมเศร้า , สุขภาพจิต, การประมวลผลภาษาธรรมชาติ, คอมพิวเตอร์วิทัศน์

บทคัดย่อ

        งานวิจัยเรื่อง การใช้สื่อสังคมออนไลน์สะท้อนภาวะซึมเศร้าของผู้ใช้งานวัยรุ่น มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาพฤติกรรมและทัศนคติของการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการสะท้อนภาวะซึมเศร้าของวัยรุ่น โดยมุ่งเน้นศึกษาความสัมพันธ์ของชนชั้นทางสังคม (social class) กับภาวะซึมเศร้าที่สะท้อนบนสื่อสังคมออนไลน์ งานวิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงคุณภาพผ่านการสัมภาษณ์เชิงลึก (in-depth interview) จากผู้เข้าร่วมวิจัยทั้งหมด 18 คน โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มชนชั้นล่าง 5 คน กลุ่มชนชั้นกลาง 6 คน และกลุ่มชนชั้นสูง 7 คน จากนั้นงานวิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลบนสื่อสังคมออนไลน์ (social media data) จากกลุ่มผู้เข้าร่วมวิจัยเดิมด้วยปัญญาประดิษฐ์ และวิเคราะห์ผลด้วยการประมวลผลภาษาธรรมชาติและคอมพิวเตอร์วิทัศน์จากจำนวนข้อความบน Twitter การใช้ภาษาหรือถ้อยคำ รวมถึงโทนสีของรูปภาพ

          ผลการศึกษาพบว่า สื่อสังคมออนไลน์ถูกใช้เป็นพื้นที่สำหรับการขอความช่วยเหลือ (calling for help) สำหรับผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าระยะชั่วคราวไปจนถึงระยะปานกลาง (ระยะที่ 1-3) แต่ไม่ถึงขั้นระยะรุนแรงมาก (ระยะที่ 4) อีกทั้งผลการศึกษาพบว่า กลุ่มผู้เข้าร่วมวิจัยชนชั้นล่าง (LC) มีระดับภาวะซึมเศร้าที่รุนแรงที่สุด (ระยะที่ 4) และมีการแสดงออกอาการดังกล่าวบนสื่อออนไลน์ชัดเจนและรุนแรงที่สุด ในขณะที่กลุ่มผู้ร่วมวิจัยชนชั้นกลาง (MC) มีภาวะซึมเศร้าในระยะปานกลาง (ระยะที่ 3) ไปจนถึงระยะรุนแรง (ระยะที่ 4) โดยกลุ่มนี้สะท้อนความหลากหลายและคลุมเครือในการแสดงออกภาวะซึมเศร้าบนสื่อสังคมออนไลน์ และสำหรับกลุ่มผู้ร่วมวิจัยชนชั้นสูง (UC) มีระดับภาวะซึมเศร้าน้อยที่สุด (ระยะที่ 1-2) และไม่ค่อยพบการแสดงออกอาการเศร้าบนสื่อออนไลน์ โดยกลุ่มนี้มองว่า พื้นที่ออนไลน์สามารถเป็นพื้นที่สะสมทุนทางสังคมรูปแบบหนึ่ง กล่าวโดยสรุป ภาวะซึมเศร้าไม่ใช่ปัญหาเชิงปัจเจกเท่านั้น แต่ยังคงเป็นปัญหาจากความกดดันทางสังคม การโดนกดขี่ หรือการครอบงำของทุนนิยมที่แฝงฝังมาจากปัญหาโครงสร้างทางสังคม

Downloads

เผยแพร่แล้ว

02-01-2024