ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อแนวทางการสื่อสารความเสี่ยงในวิกฤติโควิด-19: บทสังเคราะห์จากการทำงานของกรมควบคุมโรค

ผู้แต่ง

  • นิธิดา แสงสิงแก้ว คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • นันทิยา ดวงภุมเมศ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล
  • มธุรส ทิพยมงคลกุล สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล
  • วิศวัส ปัญญาวงศ์สถาพร คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คำสำคัญ:

การสื่อสารความเสี่ยง , การสื่อสารในภาวะวิกฤติ, กรมควบคุมโรค, นโยบาย , โควิด-19

บทคัดย่อ

        การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อถอดบทเรียนการสื่อสารความเสี่ยงในวิกฤติโควิด-19 ของกรมควบคุมโรค เพื่อสังเคราะห์ทัศนะต่อการสื่อสารความเสี่ยงของกรมควบคุมโรคของสื่อมวลชน ผู้กำหนดนโยบาย นักวิชาการ และผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ภาคสนามที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเรื่องการจัดการสื่อสารความเสี่ยงของกรมควบคุมโรคในฐานะหน่วยงานภาครัฐ โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกจำนวน 19 คน

        เมื่อประมวลภาพผลการดำเนินงานกับกรอบแนวคิดและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง พบว่า การระบาดของโควิด-19 นำมาซึ่งโอกาสในการทำงานด้านการสื่อสารความเสี่ยงและการสื่อสารในภาวะวิกฤติของกรมควบคุมโรคได้ในหลายมิติ กรมควบคุมโรคประสบความสำเร็จในการดำเนินยุทธศาสตร์ ระบบบัญชาการ และแผนการสื่อสารความเสี่ยงเพื่อเฝ้าระวังและแจ้งเตือนโรคอุบัติใหม่แก่สาธารณชนตามกรอบมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก อย่างไรก็ดี เมื่อโรคอุบัติใหม่แพร่กระจายเข้าสู่สังคมและยกระดับกลายเป็นสภาวะวิกฤติ ยังพบช่องว่างที่ทำให้เห็นว่า กรมควบคุมโรคจะสามารถพัฒนาการทำงานเพื่อรับมือกับการสื่อสารในภาวะวิกฤติอย่างเป็นรูปธรรม ทันท่วงที และมุ่งเน้นเป้าหมายในการจัดการความตื่นตระหนก ความสับสน และความโกลาหลภายในสังคม

        ข้อเสนอแนะหลักสำหรับกรมควบคุมโรคคือ การปรับกระบวนทัศน์การทำงานสื่อสาร โดยการยกระดับการทำงานจากหลักการสื่อสารความเสี่ยงสู่การสื่อสารในภาวะวิกฤติที่เน้นการจัดการปัญหาเฉพาะหน้าที่เร่งด่วน โดยเฉพาะในกรณีของโรคอุบัติใหม่ ที่มีความไม่แน่นอนและความไม่ชัดเจนด้านการข่าวและข้อมูลสูง ผ่านการปรับตัวใน 5 ด้าน ได้แก่ การวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อสื่อสารวิกฤติ การวิเคราะห์ผู้รับสาร การตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสาร การจัดการทรัพยากรบุคคล และการสื่อสารเชิงรุก

        สำหรับโอกาสในการทำงานสื่อสารความเสี่ยงและในภาวะวิกฤติที่เป็นประเด็นท้าทายสำหรับกรมควบคุมโรค ได้แก่ (1) ปรับกลยุทธ์การสื่อสารโดยสร้างสมดุลระหว่างแรงกดดันภายนอกและจุดยืนความเป็นวิชาการที่กรมควบคุมโรคมีจุดแข็งในการรับรู้ของสาธารณชนอยู่ (2) ทบทวนและทำความเข้าใจพันธกิจการสื่อสารความเสี่ยงของหน่วยงานที่อาจต้องขยายขอบเขตสู่การสื่อสารในภาวะวิกฤติ เมื่อโรคอุบัติใหม่แพร่กระจายจนอาจเกิดความตื่นตระหนกและโกลาหล (3) บูรณาการการสื่อสารเชิงรุกที่กรมควบคุมโรคเน้นการประสานงานกับหน่วยงานภายนอก และสร้างเครือข่ายพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ทางการสื่อสารเพื่อบรรเทาปัญหาการขาดบุคลากรด้านการสื่อสารของกรมควบคุมโรค

Downloads

เผยแพร่แล้ว

02-01-2024