การเมืองเยาวชนร่วมสมัยกับการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมทางการเมือง รู้เท่าทันข่าวปลอม

ผู้แต่ง

  • วิไลวรรณ จงวิไลเกษม คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • นันท์วิสิทธิ์ ตั้งแสงประทีป คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
  • พลสัน นกน่วม บริษัท GetTalks Media จำกัด

คำสำคัญ:

แนวร่วมเยาวชน , การมีส่วนร่วมทางการเมือง , รู้เท่าทันข่าวปลอม

บทคัดย่อ

        งานวิจัยเรื่อง การเมืองเยาวชนร่วมสมัยกับการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมทางการเมืองรู้เท่าทันข่าวปลอม เป็นการวิจัยแบบผสมผสานที่ใช้วิธีวิทยาเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ส่วนแรกเป็นการวิจัยเชิงสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมเยาวชนระดับอุดมศึกษาเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการรู้เท่าทันข่าวปลอมทางด้านการเมือง ส่วนสองเป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ รูปแบบกิจกรรมสร้างแนวร่วมเยาวชนร่วมสมัยกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองรู้เท่าทันข่าวปลอม ภายใต้วัตถุประสงค์หลัก 3 ข้อ คือ (1) เพื่อเสริมความรู้ในการมีส่วนร่วมทางการเมืองสําหรับเยาวชนระดับอุดมศึกษา (2) เพื่อเสริมความรู้การรู้เท่าทันข่าวปลอมทางการเมืองสําหรับเยาวชนระดับอุดมศึกษา และ (3) เพื่อสร้างเครือข่ายเยาวชนร่วมสมัยกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองรู้เท่าทันข่าวปลอม

        ผลการวิจัยเชิงปริมาณพบว่า ผู้ที่มีภูมิหลังทางประชากรแตกต่างกัน จะมีพฤติกรรมการเปิดรับข่าวการเมือง ความรู้และพฤติกรรมเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง และความรู้และพฤติกรรมเกี่ยวกับการรู้เท่าทันข่าวปลอมทางด้านการเมืองต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และพบว่า ความรู้และพฤติกรรมเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองมีความสัมพันธ์กับความรู้และพฤติกรรมเกี่ยวกับการรู้เท่าทันข่าวปลอมทางด้านการเมืองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐาน ในส่วนผลการวิจัยเชิงปฏิบัติการพบว่า การสร้างกลไกแนวร่วมเยาวชนร่วมสมัยกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองต้องใช้องค์ประกอบที่สำคัญ 3 ส่วนคือ ส่วนแรก เยาวชน (นักศึกษาหรือนักเรียน) ส่วนสอง สถาบันการศึกษา และส่วนสาม องค์กรวิชาชีพสื่อ ที่เกิดจากความร่วมมือ 3 ฝ่ายด้วยความสมัครใจ เห็นความสำคัญของเยาวชนกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย ผ่านกิจกรรมที่เป็นกระบวนการเรียนรู้ทั้งด้านความรู้และทักษะ นอกจากนี้ ยังต้องการสนับสนุนด้านงบประมาณในการทำกิจกรรมเพื่อบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์เยาวชนที่ตื่นรู้ กับการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งที่เขาสนใจและมีความถนัด ภายใต้การสนับสนุนกิจกรรมจาก 3 องค์กรหลักที่เกี่ยวข้องกับสื่อโดยตรง คือ  คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

Downloads

เผยแพร่แล้ว

02-01-2024