สัมพันธบทและการผสมข้ามสายพันธุ์ทางวัฒนธรรมตัวละครทศกัณฐ์ ในสื่อวัฒนธรรมประชานิยมของไทย

ผู้แต่ง

  • ภัทริยา ศรีสุข คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ

คำสำคัญ:

ทศกัณฐ์ , วัฒนธรรมประชานิยม , สัมพันธบท , การผสมข้ามสายพันธุ์ทางวัฒนธรรม

บทคัดย่อ

        การวิจัยเรื่อง สัมพันธบทและการผสมข้ามสายพันธุ์ทางวัฒนธรรมตัวละครทศกัณฐ์ ใน สื่อวัฒนธรรมประชานิยมของไทย เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ (qualitative research) มุ่งศึกษาวิเคราะห์ตัวละครทศกัณฐ์ในบริบทวัฒนธรรมประชานิยมในช่วง พ.ศ. 2557-2561 โดยมีตัวบทต้นทาง ได้แก่ ทศกัณฐ์ในรามเกียรติ์ฉบับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ร.1) จิตรกรรมฝาผนังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และนาฏศิลป์โขนของกรมศิลปากรที่มีสัมพันธบททศกัณฐ์ร่วมกับวรรณคดี และตัวบทปลายทาง ได้แก่ นิยายภาพชุดรามเกียรติ์ โฆษณาเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ชุด “เที่ยวไทยมีเฮ” และภาพยนตร์แอนิเมชัน เรื่อง ๙ ศาสตรา โดยใช้แนวคิดสัมพันธบท (intertextuality) วิเคราะห์บริบททางสังคมและประเภทสื่อ รูปแบบภายนอก ได้แก่ รูปร่างหน้าตา สีกาย เครื่องแต่งกาย อาวุธ และฉากที่มีการปรากฏตัวของตัวละครทศกัณฐ์ รูปแบบภายใน ได้แก่ ลักษณะนิสัย ความสามารถ ภูมิหลัง บทบาท และเนื้อหาในการสื่อความหมายของตัวละครทศกัณฐ์ว่า มีการคงเดิม (convention) การตัดทอน (reduction) และการดัดแปลง (modification) และมีการใช้แนวคิดการผสมข้ามสายพันธุ์ทางวัฒนธรรม เพื่อจำแนกรูปแบบทศกัณฐ์ที่เกิดขึ้นในสื่อวัฒนธรรมประชานิยมของไทย

        ผลการวิจัยพบว่า ทศกัณฐ์ในวัฒนธรรมประชานิยมของไทยมีสัมพันธบทกับวัฒนธรรมชั้นสูง ทั้งรูปแบบและเนื้อหาในลักษณะคงเดิม (convention) ตัดทอน (reduction) และดัดแปลง (modification) และได้มีการผสมผสานข้ามสายพันธุ์ทางวัฒนธรรมรูปแบบอะมีบา (amoeba pattern) ในหนังสือนิยายภาพชุดรามเกียรติ์ รูปแบบปะการัง (coral pattern) ในภาพยนตร์โฆษณา ชุด “เที่ยวไทยมีเฮ” และรูปแบบผีเสื้อ (butterfly pattern) ในภาพยนตร์แอนิเมชัน เรื่อง ๙ ศาสตรา เพื่อการสืบทอดวัฒนธรรมและผลิตซ้ำเพื่อเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมที่นำเสนอความเป็นไทย ตามลำดับ

Downloads

เผยแพร่แล้ว

02-01-2024