Detroit: Become Human สัญญะ การเล่าเรื่องของวิดีโอเกมแนวทางเลือก การต่อสู้ของอุดมการณ์เสรีนิยมภายใต้อาณานิคมภายใน
คำสำคัญ:
การเล่าเรื่อง, วิดีโอเกมแนวทางเลือก, สัญวิทยา, เสรีนิยม, อาณานิคมภายในบทคัดย่อ
บทความนี้เป็นการวิเคราะห์การเล่าเรื่องของวิดีโอเกมแนวทางเลือก (choice matter) ด้วยแนวคิดการเล่าเรื่องของวิดีโอเกม Ludology ร่วมกับทฤษฎีในสายสัญวิทยาเพื่อวิเคราะห์โครงสร้างความหมายโดยใช้เกม Detroit: Become Human (2561) เป็นกรณีศึกษาการเล่าเรื่องที่มีส่วนในการผลิตซ้ำอุดมการณ์เสรีนิยม จากการศึกษาพบว่า วิดีโอเกมมีวิธีการเล่าเรื่องแบบสื่อดั้งเดิมผสมผสานกับรูปแบบของสื่อใหม่ ที่ผู้เล่นต้องปฏิสัมพันธ์กับเกมเพื่อสร้างความหมายที่แตกต่างกัน ดังนั้นวิดีโอเกมจึงจำเป็นต้องอาศัยการออกแบบระบบเกมการเล่นที่สอดคล้องกับการเล่าเรื่อง วิดีโอเกมแนวทางเลือกได้ออกแบบให้ผู้เล่นรู้สึกมีอิสระในการกำหนดความหมายผ่านตัวเลือก แต่แท้จริงนั้นกลับอยู่ภายใต้สิ่งที่ผู้สร้างกำหนดไว้แล้ว ทั้งนี้ ผู้เล่นก็สามารถสร้างสรรค์วิธีการที่นอกกรอบจากสิ่งที่ผู้สร้างกำหนดไว้ได้ เช่น การโหลดเซฟเล่นใหม่ หรือดัดแปลงตัวเกม (MOD) ส่วนเนื้อเรื่องของเกมได้แสดงให้เห็นถึงการผลิตซ้ำอุดมการณ์เสรีนิยมผ่านทางเลือกและตอนจบ โดยแสดงให้เห็นถึงการต่อสู้ของอุดมการณ์เสรีนิยมที่เน้นเรื่องความเท่าเทียมภายใต้ภาวะอาณานิคมภายใน และกำหนดให้เสรีนิยมอยู่ในฐานะ “ฝ่ายดี” รวมถึงกำหนดวิธีการต่อสู้ด้วยวิธีการสันติ เพื่อเป็นขั้วตรงข้ามกับระบบศักดินาและความรุนแรงที่กดขี่ชนชั้นต่ำกว่าซึ่งนำไปสู่ตอบจบที่ดี