ตำนานกลวง: ท้องถิ่นและอำนาจในการสร้างอัตลักษณ์

Main Article Content

วิมลมาศ ปฤชากุล

บทคัดย่อ

ตำนานท้องถิ่น (Local Legends) เป็นเรื่องเล่าประเภทหนึ่งที่นักเขียนชาวใต้นิยมใช้เป็นองค์ประกอบในการเล่าเรื่อง โดยใช้ตำนานเป็นตัวจุดประกายให้เรื่องราวดำเนินไป หรือไม่ก็นำตำนานมาเล่าใหม่เพื่อกระตุ้นสำนึกของผู้อ่าน เรื่องสั้น "ตำนานกลวง" ของไพฑูรย์ ธัญญา เป็นเรื่องสั้นชิ้นสำคัญในช่วงต้นทศวรรษ ๒๕๓๐ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่วาทกรรมวัฒนธรรมชุมชนมุ่งฟื้นฟูคุณค่าและภูมิปัญญาท้องถิ่นได้รับความนิยมจากรัฐ นักพัฒนาเอกชน นักวิชาการ ตลอดจนนักเขียน และกวีท้องถิ่นในฐานะกระบวนทัศน์ใหม่ของการพัฒนาท้องถิ่นไทย


"ตำนานกลวง" เสนอว่าแม้แต่ตำนานท้องถิ่นจะมีกำเนิดมาจากชาวบ้าน แต่การเปลี่ยนแปลงของตัวบทตำนานแสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของท้องถิ่นที่ต้องดำเนินไปบนการปะทะสังสรรค์ การปรับตัว การยอมรับ และตัดออก สิ่งเหล่านี้แสดงออกผ่านการเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบต่างๆ ในตัวบทตำนานที่ชาวบ้านเล่าสืบต่อกันมาในแต่ละรุ่นแต่ละยุค


เรื่องสั้น "ตำนานกลวง" เปิดเผยให้เห็นวาทกรรมอำนาจจากศูนย์กลาง และความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ท้องถิ่นไม่ได้มีอิสระในการนิยามอัตลักษณ์ของตน อำนาจที่รัฐใช้ผ่านตัวแทนในท้องถิ่นยังคงควบคุมและกำกับทั้งในด้านของนโยบายและผลประโยชน์ของท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมจัดการความสัมพันธ์ของชาวบ้าน หรือความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการแปลงวัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นสินค้าผ่านนโยบายอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น

Article Details

How to Cite
ปฤชากุล ว. (2016). ตำนานกลวง: ท้องถิ่นและอำนาจในการสร้างอัตลักษณ์. วรรณวิทัศน์, 8, 41–57. https://doi.org/10.14456/vannavidas.2008.2
บท
บทความประจำฉบับ