วารสารมนุษย์กับสังคม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัย มหาสารคาม ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 (มกราคม-กรกฎาคม 2560) นำเสนอบทความที่เกี่ยวกับการ ศึกษาปรัชญาและปรากฏการณ์ทางด้านศาสนาจากวรรณกรรมและสังคมไทย การศึกษา เอกสารทางประวัติศาสตร์ ข่าวจากสื่อมวลชน การพัฒนาการเรียนการสอน และบทวิจารณ์ หนังสือ

                บทความที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาปรัชญาหลักธรรมทางพุทธศาสนาผ่านวรรณกรรม ในฉบับนี้มี 3 เรื่อง เริ่มจากการศึกษาผลงานของศิลปินมรดกอีสานสาขาวรรณศิลป์ “หลักธรรมเพื่อการหลุดพ้นในวรรณรูปของ ทยาลุ” ซึ่งมีจุดเริ่มจากวรรณรูปอย่าเห็นแก่ตัว สู่การทำความเข้าใจชีวิต โลก และจักรวาลที่อยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ อิทัปปัจจยตา และอตัมมยตา นำไปสู่การเจริญสติเพื่อเห็นตามความเป็นจริง และฝึกฝนจนเท่าทันการเกิด ทุกข์-ดับเหตุแห่งทุกข์ตามหลักอริยสัจสี่ ส่วนบทความเรื่อง “ตุ๊กตารอยทราย: การผสานกวี นิพนธ์ปรัชญาศาสนาและกวีนิพนธ์เพื่อชีวิต” พบว่ากวีมุ่งเสนอแนวคิดหรือปรัชญาที่ชวน ให้ดำรงชีวิตอย่างง่ายงาม แอบอิงกับธรรมชาติ ลดละกิเลส ไม่เบียดเบียนตนเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นหนทางสงบสันติในโลกอันสับสนวุ่นวาย สำหรับบทความเรื่อง ที่ 3 “ชื่อตัวละครพระโพธิสัตว์ในชาดกพื้นบ้านอีสาน” ทำให้เข้าใจคำเรียกชื่อตัวละครพระ โพธิสัตว์ที่มีความหลากหลาย สะท้อนวิธีคิด ความรู้ภาษาต่างประเทศของคนอีสาน แสดง ให้เห็นแนวคิดในการตั้งชื่อตัวละคร ซึ่งบางชื่อมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างความเชื่อ แบบผีดั้งเดิมกับพุทธศาสนา หรือศาสนาพราหมณ์และพุทธมหายานอีกด้วย

                การศึกษาเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับศาสนาผ่านวรรณกรรม ยังมีบทความที่ศึกษาภาค สนามในชุมชนชาวคริสต์ “การสร้างพื้นที่ทางสังคมของชาวคริสต์ บ้านสองคอน อำเภอ หว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร” พบว่า ชาวคริสต์มีรูปแบบการสร้างพื้นที่ทางสังคมผ่าน เรื่องเล่า การสร้างพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และพื้นที่แห่งความทรงจำให้เป็นพื้นที่สาธารณะ การปรับ เปลี่ยนความเชื่อและพิธีกรรมทางศาสนาให้มีลักษณะเป็นวัฒนธรรมพันทาง โดยใช้วิธีการ ผสมผสานทางวัฒนธรรมให้คนทุกศาสนาเข้าร่วมได้ เพื่อการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่าง มีศักดิ์ศรี คล้ายกันกับบทความวิเคราะห์วรรณกรรมกวีนิพนธ์ร่วมสมัย “คนพลัดถิ่นในกวีนิพนธ์อีสาน” วิเคราะห์รวมบทกวี หัวใจห้องที่ห้า ของ อังคาร จันทาทิพย์ กับ คะนึง ถึงบ้านขณะฝันในเมือง ของ โขงรัก คำไพโรจน์ ซึ่งกล่าวถึงคนอีสานพลัดถิ่นที่ดำรงตนอยู่ ในสังคมอีกสังคมหนึ่ง จากบทกวีนิพนธ์พบว่าคนพลัดถิ่นอีสานมีความทรงจำถึงบ้านเกิด การหวนหาบ้านเกิด ความเป็นมาของชาติพันธุ์ ความมีอารยธรรมและมีเรื่องเล่าถึงตำนาน บ้านเกิด แสดงอัตลักษณ์ของคนอีสานพลัดถิ่นที่ดำรงตนอยู่ในสังคมอื่น

                บทความ “เปรียบเทียบการนำเสนอเนื้อหาข่าวอาชญากรรมในหนังสือพิมพ์ ออฟไลน์กับหนังสือพิมพ์ออนไลน์” มุ่งศึกษารูปแบบและโครงสร้างการเขียนข่าว อาชญากรรมจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ พบว่า โครงสร้างข่าวจะเขียนเหมือนกัน โดยนิยม การพาดหัวข่าวแบบเลือกสรรคำ พาดหัวข่าวด้วยประเด็นสำคัญและสร้างความเข้าใจ ได้อย่างกระจ่าง การเขียนความนำนิยมเขียนแบบ Who Lead ลักษณะการเขียนเนื้อข่าว นิยมเขียนแบบเคลื่อนไหว ส่วนรูปแบบการเขียนข่าวอาชญากรรม นิยมใช้รูปแบบพีระมิด หัวกลับเหมือนกัน

                การศึกษาเอกสารทางประวัติศาสตร์จากบทความ “สงครามคราวเสียกรุง พ.ศ. 2112 ในเอกสารประวัติศาสตร์ไทย ลาว และพม่า” พบว่าด้วยเงื่อนไขปัจจัยที่เกี่ยว เนื่องกับผู้แต่งเอกสารแตกต่างกัน จึงส่งผลอย่างมีนัยยะสำคัญต่อการอธิบายที่ใช้เหตุการณ์ สงคราม พ.ศ. 2310 ไปเป็นมาตรฐานมุมมองต่อสงคราม พ.ศ. 2112 ในฐานะสงครามเสีย กรุงครั้งที่หนึ่ง และนิยามสงคราม พ.ศ. 2310 ในฐานะสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง

                บทความเกี่ยวกับการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยเรื่อง “การพัฒนากิจกรรม การเรียนรู้เรื่อง พระอภัยมณี ตามรูปแบบ ACACA ที่มีผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและ ความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3” พบว่ากิจกรรมการ เรียนรู้ เรื่องพระอภัยมณี รูปแบบ ACACA มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ ผลสัมฤทธิ์ก่อน และหลังเรียนแตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 นักเรียนมีความสามารถ ด้านการคิดวิเคราะห์อยู่ในระดับดีมาก สำหรับบทวิจารณ์หนังสือในวารสารฉบับนี้ เป็นบท วิจารณ์หนังสือ Critical Theory Today: A User-Friendly Guide (Second Edition) ผู้แต่ง Lois Tyson ซึ่งผู้วิจารณ์เสนอมุมมองในการศึกษาไว้อย่างน่าสนใจ

                กองบรรณาธิการมีความยินดีในการรับพิจารณาบทความ เปิดพื้นที่ให้นักวิชาการ และนักวิจัยได้นำเสนอองค์ความรู้ที่ได้มาจากการศึกษาวิจัย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความในวารสารมนุษย์กับสังคม ที่ผ่านการคัดสรรโดยกอง บรรณาธิการ และกลั่นกรองโดยผู้ทรงคุณวุฒิจะมีประโยชน์ต่อผู้อ่าน ตลอดจนผู้สนใจใน วงวิชาการด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์อย่างกว้างขวางต่อไป

 

                                                                                                        โสภี อุ่นทะยา

                                                                                      บรรณาธิการวารสารมนุษย์กับสังคม

Published: 2019-12-27