ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 แวดวงวิชาการประเทศไทยได้พบกับการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายหลายด้านและยอมรับว่าหลังวิกฤติการระบาดของไวรัส COVID-19 สิ่งต่าง ๆ รอบตัวเราเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม จนถึงกลางปีสถานการณ์ก็ยังทรงตัว ไม่มีท่าทีที่ไวรัส COVID-19 จะจากไป อย่างไรก็ตาม ในวิกฤติที่เกิดขึ้นปรากฏการณ์ใหม่ของการทำงานวิจัยก็เริ่มเปลี่ยนเช่นเดียวกัน โดยนักวิจัยหันมาทำงานร่วมกันแบบข้ามศาสตร์ ข้ามสาขามากขึ้น ตามปรากฏการณ์ “นิว นอร์มอล” (New Normal) ที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่วิถีใหม่ภายใต้หลักมาตรฐานใหม่ที่ไม่คุ้นเคย เฉกเช่นเดียว กับวารสารมนุษย์กับสังคมที่ต้องก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงและต่อเนื่อง
                “วารสารมนุษย์กับสังคม” ปีที่ 6 เล่มที่ 1 ประจำปี พ.ศ.2563 (กรกฎาคม 63 – ธันวาคม 63)บทความที่ปรากฏในวารสารมนุษย์กับสังคม์ฉบับนี้ มีประเด็นศึกษาที่ครอบคลุมทั้งสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยมีทั้งหมด 9 บทความ จากสาขาภาษาศาสตร์ หลักสูตรการสอนประวัติศาสตร์และการพัฒนาสังคม รวมทั้งภูมิศาสตร์
                วารสารฉบับนี้บทความกลุ่มแรกมุ่งเน้นเรื่องภาษา ได้แก่ เรื่อง “คำศัพท์โบราณในวรรณกรรมอุรังคธาตุ: ภาพสะท้อนวัฒนธรรมทางภาษาล้านช้าง” เรื่อง “การแสดงความหมายของการใช้ถ้อยคำเขียนคำฟ้องและคำให้การในคดีทางการแพทย์” และเรื่อง “อำนาจของผู้หญิง: การท้าทายความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับแนวคิดปิตาธิปไตยในนวนิยายสมัยใหม่ บทความกลุ่มที่ สองมุ่งเน้นเรื่องหลักสูตรการสอน ได้แก่ เรื่อง “การพัฒนาความรู้ด้านคำศัพท์ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายชาวไทยที่เรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศ” และเรื่อง “การใช้กลวิธีการอ่านแบบเสริมต่อการเรียนรู้ร่วมกับกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นสมองเป็นฐานเพื่อพัฒนาความสามารถด้านการอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5” บทความกลุ่มที่สามมุ่งเน้นเรื่องประวัติศาสตร์และการพัฒนาสังคม ได้แก่ เรื่อง “การศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองในประเทศสหรัฐอเมริกา” เรื่อง “ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจย้ายถิ่นข้ามชาติของแรงงานเมียนมาในจังหวัดขอนแก่น” และเรื่อง “การวิเคราะห์องค์ประกอบการส่งเสริมการเติบโตอย่างมีส่วนร่วมบนพื้นฐานประชารัฐ” บทความกลุ่มที่สี่มุ่งเน้นเรื่องภูมิศาสตร์ ได้แก่ เรื่อง “การย้ายถิ่นเพื่อรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและความเปราะบางของกลุ่มชาติพันธุ์เขมรในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ประเทศเวียดนาม”
               หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ประเด็นศึกษาสาระ ความรู้ อันหลากหลายของบทความทั้ง 9 เรื่องในฉบับนี้จะสะท้อนให้เห็นถึงขอบเขตด้านเนื้อหาที่ครอบคลุมทั้งสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และวารสารฉบับนี้น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างสรรค์ จุดประกายจินตนาการ และเกิดประโยชน์ต่อผู้อ่านทั้งด้านความรู้ใหม่ ระเบียบวิธีวิจัยทางมนุษยศาสตร์ และการบูรณาการศาสตร์อื่นเข้ากับการศึกษาภาษา สังคม และวัฒนธรรม

 

                                                                                                        ภาคภูมิ หรรนภา

                                                                                      บรรณาธิการวารสารมนุษย์กับสังคม

Published: 2020-12-30