คนพิการกับการเข้าถึงเทคโนโลยีสื่อสารด้านกิจการ กระจายเสียงและโทรทัศน์ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต: การศึกษาเชิงวิเคราะห์ วิจักษ์ และวิธาน

ผู้แต่ง

  • ตรี บุญเจือ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
  • กีรติ บุญเจือ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

คำสำคัญ:

-

บทคัดย่อ

                  การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตอบคำถามทางปรัชญาว่า “การส่งเสริมเทคโนโลยีสื่อสารที่ช่วยคนพิการให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่คนพิการแล้วหรือไม่” โดยใช้วิธีการวิเคราะห์เหตุผลของแนวคิดที่เกี่ยวข้อง จากนั้นจึงนำไปสู่การวิจักษ์ หรือชี้ให้เห็นถึงคุณค่าของการวิจัย เพื่อวิธาน คือ การใช้วิจารณญาณมองหาแนวทางการประยุกต์ใช้คำตอบวิจัยเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต อันเป็น เป้าหมายตามปรัชญากระบวนทัศน์หลังนวยุค ซึ่งทำให้การวิจัยเรื่องนี้เป็นประโยชน์ในเชิงการสื่อสารมวลชนและสังคมศาสตร์ด้วย
                 ผลการวิจัยพบว่า คำตอบของผู้วิจัย ซึ่งเป็นไปตามกระบวนทัศน์ หลังนวยุคคือ การส่งเสริมเทคโนโลยีสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพยังไม่เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่คนพิการ แต่กระบวนทัศน์นวยุคมีความคิดเห็นแตกต่างและแสดงเหตุผลว่าเทคโนโลยีเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตแก่คนพิการแล้ว เพราะเทคโนโลยีช่วยเพิ่มศักยภาพแก่คนพิการและรัฐก็ได้ใช้กฎหมายกำหนดให้คนพิการได้เข้าถึงเทคโนโลยีสื่อสารนี้เหมือนกับคนทั่วไปแล้ว ผู้วิจัยวิจารณ์เหตุผล
                 ของกระบวนทัศน์นวยุคว่า มีจุดอ่อนอย่างสำคัญคือ เทคโนโลยีสื่อสารได้สร้างสังคมเกินจริงที่คนพิการดูเหมือนกับว่าตนเองมีความเท่ากันกับคนทั่วไปด้วยการ มีเทคโนโลยีสื่อสารที่พร้อมใช้ หากแต่เทคโนโลยีได้สถาปนาคุณค่าใหม่ในสังคมเสียเอง ทั้งที่ก็เพียงแต่มุ่งหวังเพียงผลประโยชน์จากธุรกิจเท่านั้น
                 ในเมื่อกระบวนทัศน์นวยุคมีจุดอ่อน ผู้วิจัยจึงเสนอเหตุผลสนับสนุน คำตอบว่า การส่งเสริมให้มีข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่คนพิการอย่างเพียงพอ จึงจะสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเขา เทคโนโลยีเป็นเพียงเครื่องมือ เพื่อบรรลุการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเท่านั้น ผลการวิจัยนี้แสดงคุณค่าของปรัชญากระบวนทัศน์หลังนวยุคที่เน้นความเป็นเอกภาพในความแตกต่างหลากหลาย และการพัฒนาศักยภาพความเป็นมนุษย์เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต
                 ผู้วิจัยได้ข้อสรุปว่า กระบวนทัศน์หลังนวยุคสายกลางนับเป็นการ วิเคราะห์ระบบที่เป็นอยู่และพัฒนาใหม่ให้ดีกว่าเดิม จึงไม่ได้มุ่งทำลายสิ่งที่ดำเนินไป แต่ค้นหาช่องว่างและจุดอ่อนเพื่อเสริมเพิ่มเติมให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ผู้วิจัยจึงเสนอว่า การส่งเสริมเทคโนโลยีสื่อสารให้ช่วยคนพิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารผ่านกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่คนพิการ จึงควรเดินไปบนความเข้าใจและความร่วมมือร่วมใจกันระหว่างคนทั่วไปกับคนพิการในสังคม จึงจะช่วยดำรงสังคมให้เป็นสังคมที่มีความสุขได้ และได้แนะนำให้วิจัยการบูรณาการปรัชญาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการ เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกระดับของสังคม

Downloads

เผยแพร่แล้ว

30-11-2018