ระเบียบการส่งบทความ

ระเบียบการส่งบทความวิจัยในวารสารการวิจัยการศึกษาขั้นพื้นฐาน

          กองบรรณาธิการวารสารได้กำหนดระเบียบการส่งบทความวิจัยไว้ให้ผู้นิพนธ์ยึดเป็นแนวทางในการส่งบทความวิจัยสำหรับการตีพิมพ์ลงในวารสารการวิจัยการศึกษาขั้นพื้นฐาน (Basic Education Research Journal) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกองบรรณาธิการสามารถตรวจสอบบทความวิจัยก่อนการตีพิมพ์ เพื่อให้วารสารมีคุณภาพสามารถนำไปใช้อ้างอิงได้

      1. เกณฑ์ในการรับบทความวิจัย

          วารสารการวิจัยการศึกษาขั้นพื้นฐานรับพิจารณาและตีพิมพ์บทความวิจัยที่เป็นผลงานวิจัยทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยบทความวิจัยที่จะนำมาตีพิมพ์ในวารสารได้นั้น จะต้องเป็นงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยการศึกษาขั้นพื้นฐานของครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกสังกัด และบทความวิจัยนั้นต้องแสดงถึงประโยชน์ในเชิงทฤษฎีในการพัฒนาหรือสร้างองค์ความรู้ใหม่ และประโยชน์ในเชิงปฏิบัติที่สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาการศึกษา

      2. อัตราค่าใช้จ่ายในการรับบทความวิจัยเพื่อตีพิมพ์

          ปัจจุบันไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการตีพิมพ์ (ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม - มิถุนายน 2565) (ค่าธรรมเนียม 1,800 บาท)

      3. รูปแบบการนำเสนอบทความวิจัย

           3.1 ขนาดของบทความวิจัย พิมพ์หน้าเดียวบนกระดาษสั้นขนาด A 4 โดยเว้นระยะห่างขอบกระดาษด้านบนและซ้ายมือ 3.5 เซนติเมตร ด้านล่างและขวามือ 2.5 เซนติเมตร

          3.2 รูปแบบอักษรและการจัดว่างตำแหน่ง ใช้รูปแบบอักษร TH SarabunPSK พิมพ์ด้วยโปรแกรมไมโครซอฟท์เวิร์ด โดยใช้ขนาด ชนิดของตัวอักษร รวมทั้งการจัดวางตำแหน่งดังนี้

                3.2.1 ต้นกระดาษ ประกอบด้วย เลขหน้า ขนาด 16 ชนิดตัวธรรมดา ตำแหน่งชิดขอบกระดาษด้านขวา

                3.2.2 ชื่อเรื่อง (ภาษาไทย) ขนาด 16 ชนิดตัวหนา ตำแหน่งกึ่งกลางหน้ากระดาษ

                3.2.3 ชื่อเรื่อง (ภาษาอังกฤษ) ขนาด 16 ชนิดตัวหนา ตำแหน่งกึ่งกลางหน้ากระดาษ

                3.2.4 ชื่อผู้เขียน (ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ) ขนาด 16 ตำแหน่งชิดขอบกระดาษด้านขวากระดาษใต้ชื่อเรื่อง ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

                3.2.5 หัวข้อของบทคัดย่อไทย/อังกฤษ ขนาด 16 ชนิดตัวหนา ตำแหน่งชิดขอบกระดาษด้านซ้าย

                3.2.6 คำสำคัญ (Keyword) ขึ้นบรรทัดใหม่ ขนาด 16 ชนิดตัวหนา ตำแหน่งชิดขอบกระดาษด้านซ้าย ส่วนข้อความของคำสำคัญเป็นตัวธรรมดา

                3.2.7 เนื้อหาบทคัดย่อไทย/อังกฤษ ขนาด 16 ชนิดตัวธรรมดา จัดพิมพ์เป็น 1 คอลัมน์
บรรทัดแรกเว้น 1 Tab จากขอบกระดาษด้านซ้าย และพิมพ์ให้ชิดขอบทั้งสองด้าน

                3.2.8 หัวข้อเรื่อง ขนาด 16 ชนิดตัวหนา ตำแหน่งชิดขอบกระดาษด้านซ้าย

                3.2.9 หัวข้อย่อย ขนาด 16 ชนิดตัวธรรมดา ระบุหมายเลขหน้าหัวข้อย่อย โดยเรียงตามลำดับหมายเลขตำแหน่งเว้น 1 ย่อหน้า จากขอบกระดาษด้านซ้าย

                3.2.10 เนื้อหา ขนาด 16 ชนิดตัวธรรมดา จัดพิมพ์เป็น 1 คอลัมน์ และพิมพ์ให้ชิดขอบทั้งสองด้าน

         3.3 จำนวนหน้าบทความวิจัย  ควรมีความยาว 12 - 18 หน้า

         3.4 การเรียงลำดับเนื้อหาบทความวิจัย

               เนื้อหาภาษาไทยที่มีคำศัพท์ภาษาอังกฤษ ควรแปลเป็นภาษาไทยให้มากที่สุด (ในกรณีที่คำศัพท์ภาษาอังกฤษเป็นคำเฉพาะที่แปลไม่ได้ หรือแปลแล้วไม่ได้ความหมายชัดเจนให้ทับศัพท์ได้) และควรใช้ภาษา
ที่ผู้อ่านเข้าใจง่าย ชัดเจน หากใช้คำย่อต้องเขียนคำเต็มไว้ครั้งแรกก่อนเนื้อหาต้องเรียงลำดับดังนี้

               3.4.1 ชื่อเรื่อง ต้องมีทั้งภาษาไทยและอังกฤษ โดยให้นำชื่อเรื่องภาษาไทยขึ้นก่อน

               3.4.2 ชื่อผู้เขียน เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

               3.4.3 บทคัดย่อ เขียนทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เขียนสรุปเนื้อหาของบทความทั้งหมด
ให้เข้าใจที่มาของการวิจัย วิธีการ โดยย่อ ผลที่ได้จากการวิจัย และนำไปใช้ประโยชน์ และได้ผลลัพธ์อย่างไร ความยาวไม่เกิน 1 หน้ากระดาษ A4 โดยให้นำบทคัดย่อภาษาไทยขึ้นก่อนบทคัดย่อภาษาอังกฤษ (Abstract) ซึ่งแปลจากบทคัดย่อภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษต้องมีเนื้อหาตรงกัน ใช้อักษรตัวตรง จะใช้ตัวเอนเฉพาะศัพท์วิทยาศาสตร์

               3.4.4 คำสำคัญภาษาไทย ไม่เกิน 5 คำ (ไม่ใช่วลี หรือ ประโยค) เป็นการระบุความสำคัญหลักในเนื้อเรื่องงานวิจัย ต้องเป็นคำศัพท์ที่สามารถใช้ในการสืบค้นหรืออ้างอิงได้   

               3.4.5 คำสำคัญภาษาอังกฤษ (Key Words) แปลคำสำคัญภาษาไทย

               3.4.6 บทนำ เป็นส่วนของเนื้อหาที่บอกความเป็นมา และเหตุผลนำไปสู่การศึกษาวิจัย และ
ควรอ้างอิงงานวิจัยอื่นเกี่ยวข้องประกอบด้วย

               3.4.7 วัตถุประสงค์การวิจัย ให้ชี้แจงถึงจุดหมายของการวิจัย

               3.4.8 วิธีดำเนินการวิจัย ควรอธิบายวิธีดำเนินการวิจัย โดยกล่าวถึงวิธีการสุ่มกลุ่มตัวอย่าง
ที่มาของกลุ่มตัวอย่าง แหล่งที่มาของข้อมูล การเก็บและรวบรวมข้อมูล การใช้เครื่องมือ สถิติที่ใช้ในการวิจัยและการวิเคราะห์ข้อมูล

               3.4.9 ผลการวิจัย เป็นการเสนอสิ่งที่ได้จากการวิจัยเป็นลำดับอาจแสดงด้วยตารางกราฟ แผนภาพประกอบการอธิบาย ทั้งนี้ถ้าแสดงด้วยตารางควรเป็นตารางแบบไม่มีเส้นขอบตารางด้านซ้ายและขวา หัวตารางแบบธรรมดาไม่มีสี ถ้ามีตารางควรมีเฉพาะที่จำเป็น ไม่ควรมีเกิน 5 ตาราง สำหรับรูปภาพประกอบควรเป็นรูปภาพขาว-ดำ ที่ชัดเจนและมีคำบรรยายใต้รูปกรณีที่จำเป็นอาจใช้ภาพสีได้ 

               3.4.10 สรุปผลการวิจัย อภิปรายผลการวิจัย และข้อเสนอแนะ (โดยแยกเป็นรายประเด็น) เป็นการสรุปผลที่ได้จากการวิจัย และมีการอภิปรายผลการวิจัยว่าเป็นไปตามสมมติฐานการวิจัยที่ตั้งไว้หรือไม่ และควรอ้างทฤษฎีหรือผลการวิจัยของผู้อื่นที่เกี่ยวข้องประกอบ เพื่อให้ผู้อ่านเห็นด้วยตามหลักการ หรือคัดค้านทฤษฎีที่มีอยู่เดิม รวมทั้งแสดงให้เห็นถึงการนำผลไปใช้ประโยชน์ และการให้ข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยในอนาคต

               3.4.11 การลงรายการเอกสารอ้างอิงในเนื้อเรื่องของบทความวิจัย (Citation) การอ้างอิงในเนื้อหา (In-text Citation) ของบทความวิจัย ให้ใช้การอ้างแบบนามปี (Author-Year) ปรากฏแทรกอยู่ในเนื้อหาของบทความ 

               3.4.12 การอ้างอิง เป็นการอ้างอิงเอกสารในเนื้อหาให้ใช้ระบบ APA Style (American Psychological Association Style) ให้เริ่มต้นด้วยเอกสารอ้างอิงภาษาไทยก่อนแล้วตามด้วยเอกสารภาษาต่างประเทศ หากผู้เขียนมีมากกว่า 3 คน ให้ใส่ชื่อ 3 คนแรกแล้วตามด้วย และ คณะหรือ et al. 

      4. การส่งบทความวิจัย

          ผู้นิพนธ์ส่งบทความวิจัยที่พิมพ์ตามข้อกำหนดของรูปแบบวารสารผ่านเว็บไซต์ในระบบ Thaijo:  โดยต้องลงทะเบียนเป็นสมาชิกของวารสาร https://thaijo.obec.go.th (สิ่งที่ต้องเตรียมเพื่อแนบข้อมูลในระบบ คือ แบบฟอร์มการส่งบทความวิจัย และบทความวิจัย ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ใน เมนูสมัครส่งบทความวิจัย)

      5. การประเมินบทความวิจัย

          บทความวิจัยจะได้รับการประเมิน จากผู้ประเมินซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ (Peer Review) ทั้งจากภายนอกและภายในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในสาขาวิชานั้นๆ จำนวน 2 ท่านต่อบทความวิจัย และส่งผลการอ่านประเมินคืนผู้นิพนธ์ให้เพิ่มเติม แก้ไข หรือพิมพ์ใหม่แล้วแต่กรณี

      6. รูปแบบการกลั่นกรองบทความวิจัยก่อนลงตีพิมพ์ (Peer Review)

          ผู้ประเมิน (Reviewer) ไม่ทราบชื่อผู้นิพนธ์ (Author) และผู้นิพนธ์ (Author) ไม่ทราบชื่อผู้ประเมิน(Reviewer) (Double-blind peer review)

      7. ลิขสิทธิ์

          บทความวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการวิจัยการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ห้ามนำข้อความทั้งหมดหรือบางส่วนไปพิมพ์ซ้ำเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นลายลักษณ์อักษร

      8. ความรับผิดชอบ

          บทความวิจัยที่ปรากฏในวารสารเป็นความรับผิดชอบของผู้นิพนธ์