วารสารไทยคดีศึกษา ปีที่ 15 ฉบับที่ 1 ประกอบด้วยบทความหลากหลายมิติ ทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ และประวัติศาสตร์ศิลปะ แต่ประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่ทุกบทความต่างมุ่งนำเสนอร่วมกันคือ การศึกษาถึงเหตุปัจจัยหลากหลายแง่มุมที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในสังคมไทย ซึ่งน่าสนใจที่จะศึกษาเพื่อให้เกิดความชัดเจนและเผยแพร่ในวงกว้าง
บทความเรื่อง “ประวัติความเป็นมาของการเรียกชื่อสีแบบไทยโบราณ: กรณีศึกษาหมู่สีเขียว” โดย เกรียงไกร ฮ่องเฮงเส็ง ศึกษาถึงการเรียกชื่อสีในแต่ละสังคมและวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างกัน โดยศึกษาเฉพาะหมู่สีเขียวเพียงสีเดียว พบว่าปรากฏลักษณะการเรียกชื่อสีเขียวแตกต่างกันออกไปมากกว่า 30 ชื่อ ตัวอย่างเช่น เขียวขี้ม้า เขียวหัวเป็ด เขียวตั้งแช ฯลฯ ประการสำคัญได้พบว่าเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดชื่อสีเขียวต่าง ๆ นั้นมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับภูมิปัญญา ความเชื่อ ประเพณี และวิถีการดำรงชีวิตของคนไทยในอดีต ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมและบริบทที่เกี่ยวข้องด้วย เหตุปัจจัยจำนวนมากเหล่านี้ส่งผลให้เกิดการบัญญัติชื่อสีเขียวลักษณะต่าง ๆ ในสังคมไทย
บทความเรื่อง “จิตรกรรมภาพยันต์ตรีนิสิงเห เพดานหอพระไตรปิฎก วัดป่าไผ่” โดย สิโรตม์ ภินันท์รัชต์ธร ศึกษาถึงรูปแบบและความหมายของจิตรกรรมบนเพดานหอไตร วัดป่าไผ่ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี พบว่าภาพเขียนยันต์ตรีนิสิงเหแห่งนี้มีลักษณะเป็นงานช่างพื้นบ้าน สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ลงมา โดยกลุ่มช่างพื้นบ้านที่มีความเชี่ยวชาญงานจิตรกรรมไทย เหตุปัจจัยประการสำคัญที่ทำให้เกิดการสร้างสรรค์จิตรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะแห่งนี้ คงน่าจะได้รับแรงบันดาลใจและการออกแบบจากพระมหาเป้อ พระสงฆ์ชาวมอญอดีตเจ้าอาวาสของวัดแห่งนี้ ผู้ซึ่งมีชื่อเสียงด้านการลงยันต์ตรีนิสิงเหอยู่ในพื้นที่นี้ในช่วงเวลาดังกล่าว อันเป็นการผสมผสานตามแบบงานช่างพื้นบ้าน ระหว่างการใช้จิตรกรรมตกแต่งอาคารเนื่องในพุทธศาสนาตามจารีตประเพณี กับการใช้จิตรกรรมในความหมายทางด้านคติความเชื่อเฉพาะบุคคล
บทความเรื่อง “พระอุโบสถและพระวิหารสมัยอยุธยาตอนปลาย - รัตนโกสินทร์ตอนต้นในพื้นที่คลองอ้อมนนท์ จังหวัดนนทบุรี” โดย ปัทมา เจริญกรกิจ และ สมคิด จิระทัศนกุล ศึกษาถึงรูปแบบ วิธีการสร้างสรรค์ หน้าที่การใช้งาน และกำหนดอายุการสร้างโดยสังเขป ของพระอุโบสถและพระวิหารสมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้นในพื้นที่คลองอ้อมนนท์ จังหวัดนนทบุรี พบว่าจากตัวอย่างพระอุโบสถและพระวิหารกรณีศึกษามีจำนวนทั้งหมด 23 วัด 24 อาคาร สามารถแบ่งออกได้ 4 กลุ่ม โดยรูปแบบอาคารที่พบมากที่สุดคืออาคารที่มีการทำพะไลด้านหน้า - หลัง หรือที่เรียกว่าเพิงหน้า ประการสำคัญพบว่าเหตุปัจจัยที่กำหนดให้รูปแบบอาคารมีรายละเอียดการสร้างสรรค์ที่แตกต่างกันนั้น เนื่องมาจากความต้องการในการใช้งานอาคารของคนแต่ละพื้นที่ซึ่งมีความแตกต่างกันไป
บทความเรื่อง “ชีวิตป่า: การเผชิญกับภาพแทนของกะเหรี่ยงโผล่วในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทุ่งใหญ่นเรศวร” โดย บัณฑิต ไกรวิจิตร ศึกษาภาพแทนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง - โผล่ว ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี ภาพแทนดังกล่าวได้แก่ ปรัมปรา นิทาน เรื่องเล่า การนับถือผีและธรรมชาติ คือกระบวนการสร้างความเป็นสังคมชาวกระเหรี่ยง - โผล่วที่ซึ่งสังคมถูกสร้างขึ้นจากความสัมพันธ์ที่มีต่อธรรมชาติ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ภาพแทนของชาวกระเหรี่ยง - โผล่วคือ ชาวกระเหรี่ยง - โผล่วได้ย้ายมุมมองข้ามไปคิดจากจุดยืนของชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ในป่า แล้วย้อนกลับมานิยามความเป็นมนุษย์ ดังนั้นวัฒนธรรมหรือภาพแทนของชาวกระเหรี่ยง - โผล่วจึงถูกผสมจากภาพแทนและมุมมองที่สัมพันธ์กับความหลากหลายข้ามสายพันธุ์
บทความเรื่อง “พัฒนาการของกลุ่มทุนและเครือข่ายธุรกิจในภาคเหนือของประเทศไทย พ.ศ. 2446 – ปัจจุบัน” โดย ชัยพงษ์ สำเนียง ที่ได้ศึกษาความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในภาพกว้าง เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาที่ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการสะสมทุนของกลุ่มทุน ซึ่งทำให้เห็นถึงสัมพันธภาพขององค์ประกอบต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไป และทำให้เห็นภาพของการพัฒนาในหลากหลายรูปแบบ โดยเสนอว่าภายใต้ความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ ทุน กลุ่มทุน และนโยบายของรัฐ มีวัฒนธรรมเฉพาะกำกับอยู่ภายใต้การร่วมมือและโอบอุ้มของรัฐและกลุ่มทุน เพราะกลุ่มทุนมีความสำคัญในการกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจ ความเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างองค์ประกอบต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ยังสะท้อนให้เห็นพลวัตของทุนที่ปรับเปลี่ยนไปตามบริบทและเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ด้วย
นอกจากนั้น ยังมีส่วนอื่น ๆ ที่น่าสนใจคือ บทวิจารณ์หนังสือ เรื่อง “พุทธจักรวาลวิทยา” ของ พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส (นิธิบุณยากร) โดย เทียมจิตร์ พ่วงสมจิตร์ รวมถึงข่าวกิจกรรมวิชาการและศิลปวัฒนธรรมจำนวนหลายกิจกรรมที่สถาบันไทยคดีศึกษาจัดขึ้นในช่วงเดือนมกราคม - มิถุนายน พ.ศ. 2561 โดยกองบรรณาธิการได้รวบรวมและสรุปสาระสำคัญของกิจกรรมเหล่านี้มาไว้ด้วย
สุดท้ายนี้ กองบรรณาธิการฯ หวังว่าวารสารไทยคดีศึกษาจะได้เป็นสื่อกลางในการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนวิชาการด้านไทยศึกษา และเป็นวารสารทางวิชาการที่ผู้สนใจให้การสนับสนุนต่อไป
Published: 2018-08-09