ในทศวรรษที่ 2020 ประสบการณ์สงครามเย็นมักจะเป็นเรื่องของคนเกิดหลังสงครามโลกครั้งที่สอง คนเกิดก่อนหน้านั้นส่วนใหญ่ก็มักตายกันไปมากมายแล้ว สงครามเย็นเป็นวิถีชีวิตของคนเกิดหลังสงครามโลกจนถึงทศวรรษที่ 1970 โดยประมาณ แต่สงครามเย็นที่ยังไม่ตายจะได้กลายมาเป็นวิถีชีวิตของผู้คนรุ่นเกิดในปลายศตวรรษที่ยี่สิบเป็นต้นมา สงครามเย็นใหม่ (New Cold War) ไม่ว่าจะเริ่มต้นเมื่อใดตามความคิดของนักประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็ตาม [เพราะการแบ่งยุค (periodization) เป็นปัญหาสำคัญของการทำมาหากินของนักประวัติศาสตร์] หรือคำๆ นี้จะเหมาะสมหรือไม่ก็ตาม ความหวาดกลัวต่อสงครามทำลายล้างโลกไปจนถึงระดับสงครามนิวเคลียร์ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง ภาพยนตร์ของ Christopher Nolan เรื่อง ‘Oppenheimer’ (2023) อาจจะช่วยตอกย้ำความน่ากลัวของสงครามปรมาณู ประโยค “Now I am become Death, the destroyer of worlds.” เป็นผีที่มาหลอกหลอนผู้คน
สำหรับโครงสร้างประชาน (cognitive structure) ของคนที่เกิดในทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมาสงครามเย็นสิ้นสุดลงแล้ว วัตถุนิยมประวัติศาสตร์ได้กลายเป็นเพียงฟอลซิล ทุนนิยมยังไม่ได้ถูกทำลาย แต่กลับแข็งแกร่งและทรงพลังมากขึ้นกว่าเดิม ชัยชนะของทุนนิยม เสรีประชาธิปไตย ได้รับการสรรเสริญ สำหรับคนบางคนเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่มีทางเลือกอื่น
คำว่าทุนนิยมมักจะไม่อยู่ในพจนานุกรมของผู้สนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบนี้ นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักบางคนจึงไม่เลือกใช้คำๆ นี้ เฉกเช่นเดียวกันกับนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมักจะไม่เลือกใช้คำว่าเสรีนิยมใหม่ อะไรคือเสรีนิยมใหม่จึงกลายเป็นข้อโต้แย้งทางอุดมการณ์ แม้ว่าวิชาเศรษฐศาสตร์จะเป็นอุดมการณ์แบบหนึ่งในสายตาของคนบางคนก็ตาม
ในต้นศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดคลื่นความหนาวเย็นของสงครามเย็นที่กลับร้อนระอุนั้นมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ประเด็นการขยายตัวของ NATO ออกนอกบริเวณเดิมๆ ปรากฏเด่นชัด แม้ว่าความคิดเรื่องการขยายตัวของ NATO เป็นอะไรที่เห็นได้มาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ยี่สิบ เพียงแต่การขยายตัวของ NATO ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในยุโรปอีกต่อไป เช่น การ ‘บุก/แทรกแซง’ ลิเบีย ( ค.ศ. 2011) เป็นต้น การขยายอำนาจของจีนก็ยังเป็นปัญหาของ NATO พลังของสังคมและความคิดแบบแอตแลนติคเหนือ (North Atlantic Society) ขยายตัวไปอย่างมากผ่านพลังโลกาภิวัฒน์ที่มอบความอภิวัฒน์ทางชนชั้นให้กับคนบางกลุ่ม เช่น นักธุรกิจด้านการเงิน เป็นต้น
หลังสงครามโลกครั้งที่สองสงครามเย็นในเอเชียนำไปสู่สงครามในหลายต่อหลายที่ เช่น สงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม เป็น นับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ยี่สิบเป็นต้นมาการขึ้นมามีอำนาจของเผด็จการจีน (คอมมิวนิสต์) ในเอเชียตะวันออกทำให้สงครามเย็นในเอเชียตะวันออกร้อนระอุมากยิ่งขึ้น การแข่งขันกันของมหาอำนาจเป็นวิถีชีวิตที่สำคัญของคริสเตียนยุโรปผิวขาว
ประวัติศาสตร์ยุโรปเป็นการต่อสู้เพื่อการขยายอำนาจที่เริ่มจากการขยายตัวของอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า (Kingdom of God) สัญลักษณ์ “จักร” หรือ “ล้อรถม้า” ที่หมุนไปบนพื้นที่ต่างๆ แสดงถึงการขยายขอบเขตอำนาจ แต่อำนาจไม่ว่าจะเป็นระดับใดก็มีขึ้นมีลง จากโปรตุเกส สเปน สวีเดน ไล่มาถึงอังกฤษ ต่างเป็นตัวอย่างที่ดี เพียงแต่ใครๆ ก็อยากจะรักษาตำแหน่งสูงสุดของห่วงโซ่อำนาจ
ในปลายศตวรรษที่สิบเก้าการขึ้นมามีอำนาจของสหรัฐอเมริกาสั่นสะเทือนสถานะมหาอำนาจของอังกฤษ โดยก่อนหน้านั้นก็คือการขยายอำนาจของเยอรมนีในทศวรรษที่ 1880 เมื่อเยอรมนีต้องการเป็นจักรวรรดิเช่นเดียวกันกับมหาอำนาจอื่นๆ ในยุโรป เช่น เบลเยี่ยม เป็นต้น การแข่งขันกันเพื่อขยายอำนาจของอังกฤษต้องเผชิญกับสหรัฐอเมริกาในทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ เมื่ออังกฤษต้องการขยายอำนาจออกไปครอบครองพื้นที่นอกเหนือ ‘British Guiana’ นับตั้งแต่กลางศตวรรษที่สิบเก้า เนื่องด้วยดินแดนที่ปัจจุบันคือเวเนซูเอล่านั้นมีทั้งทองและทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ อีกมากมาย
การเผชิญหน้ากันของอังกฤษและเหล่าอดีตประเทศอาณานิคมลาตินอเมริกากลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เวเนซูเอล่าดึงเอาสหรัฐอเมริกาเข้ามาปกป้องตาม ‘Monroe Doctrine’ ในการต่อสู้กับการขยายอำนาจของอังกฤษ พลังอำนาจของสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดี Grover Cleveland กดดันให้อังกฤษเซ็น ‘Treaty of Arbitration’ (1897) เพียงแต่สันติภาพและข้อตกลงที่อยู่ในกระดาษไม่ได้ส่งผลจริงจัง ความขัดแย้งดำเนินมาจนถึงทศวรรษที่ 1960 เมื่อมีการตกลงกันระหว่างเวซูเอล่า บริติชกียาน่า และอังกฤษ ใน ‘Geneva Agreement’ (1966)
การขยายอำนาจของสหรัฐเล็กๆ อเมริกากลายมาเป็นสหรัฐใหญ่ๆ อเมริกาจากฝั่งแอตแลนติคไปจนถึงแปซิฟิคนั้นไม่ได้หยุดที่รัฐวอชิงตันและอลาสก้า แต่ยังขยายตัวเข้ามาในมหาสมุทรแปซิฟิค ความจำเป็นของการพิทักษ์ผลประโยชน์ของดินแดนฝั่งแปซิฟิคทำให้เกิดคำถามว่าจะครอบครองอดีตหมู่เกาะแซนวิช (Sandwich Islands) ดีหรือไม่กลายมาเป็นประเด็นสำคัญ ในปลายศตวรรษที่สิบเก้าความหวาดวิตกต่อการขยายตัวของรัฐจีนที่ในประวัติศาสตร์เต็มไปด้วยการขยายดินแดนนั้นก่อให้เกิดความหวาดวิตกว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าจีนไม่ได้อ่อนแออีกต่อไป
ความคิดทางด้านภูมิการเมือง (geopolitics) ในปลายศตวรรษที่สิบเก้าไปบ้าง เพราะไม่ใช่จีนที่ขยายอำนาจแต่เป็นญี่ปุ่นที่กลายมาเป็น “ภัยเหลือง” (Yellow Peril) ในสายตาของเหล่าคริสเตียนผิวขาว การขยายอำนาจของญี่ปุ่นทำให้การเผชิญหน้ากับสหรัฐอเมริกาจบลงด้วยสงครามมหาเอเชียบูรพาที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้ต่อพลังมหาอำนาจแองโกล-อเมริกัน (Anglo-American) แต่ไม่ว่าจะเป็นจีนหรือญี่ปุ่นประเทศในเอเชียตะวันออกเป็นปัญหาสำหรับมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายอำนาจทางทะเล การขยายอำนาจที่ต่างฝ่ายต่างก็ต้องปกป้องเขตอิทธิพลและผลประโยชน์ของตัวเอง การปกป้องเขตแดน (territorial imperative) มักจะถูกยกขึ้นมาว่าเป็นธรรมชาติของสัตว์และมนุษย์
ธเนศ วงศ์ยานนาวา
หมายเหตุ: ผู้ที่สนใจตัวเล่มฉบับเต็มของวารสารสามารถติดต่อได้ที่ polscitu.jr@gmail.com
เผยแพร่แล้ว: 2022-08-15