ลักษณะการเป็นบทละครสำเร็จรูปของบทละครชาตรีเรื่องมโนห์ราของกรมศิลปากร
Main Article Content
บทคัดย่อ
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภูมิหลังของบทละครชาตรีเรื่องมโนห์ราของกรมศิลปากร ลักษณะของบทละครไทยแบบดั้งเดิม บทละครสำเร็จรูป และศึกษาวิเคราะห์ลักษณะการเป็นบทละครสำเร็จรูปของบทละครชาตรีเรื่องมโนห์ราของกรมศิลปากร โดยใช้กระบวนการวิธีวิจัยเอกสาร โดยศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ศึกษาวิเคราะห์บทละครชาตรีเรื่องมโนห์ราของกรมศิลปากรฉบับ พ.ศ. 2498 บทประพันธ์ของนายมนตรี ตราโมทและคณะ นำเสนอผลการศึกษาเชิงบรรยายหรือพรรณนา
ผลการศึกษาพบว่า บทละครชาตรีเรื่องมโนห์ราของกรมศิลปากรประพันธ์ขึ้นเพื่อใช้เป็นบทการแสดง โดยทั้งบทละครและวิธีการจัดแสดงเป็นผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ทั้งหมด เมื่อจัดแสดงแล้วได้รับความชื่นชมและนิยมจากผู้ชมจนมีการแสดงซ้ำจำนวนหลายรอบ และได้รับการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ด้านลักษณะของบทละครไทยพบว่ามี 2 ลักษณะ คือ บทละครไทยแบบดั้งเดิมที่ผู้ประพันธ์ไม่นิยมใส่องค์ประกอบสำคัญที่จำเป็นต้องใช้ในการแสดงอย่างครบถ้วน ผู้นำบทไปจัดแสดงจำเป็นต้องปรุงบทเพิ่มด้วยการใส่องค์ประกอบที่สำคัญเอง นอกจากนี้บทละครไทยแบบดั้งเดิมยังมีลักษณะเป็นวรรณกรรมพหุประโยชน์อีกด้วย ส่วนบทละครสำเร็จรูป คือบทละครที่ได้รับอิทธิพลจากการแสดงตะวันตกที่นิยมใส่องค์ประกอบที่จำเป็นต่อการแสดงอย่างครบถ้วน เพื่อความสะดวกและความเข้าใจที่ตรงกันของคณะผู้ดำเนินงาน บทละครสำเร็จรูปจะช่วยรักษาคุณภาพและมาตรฐานให้การแสดงทุกรอบเท่าเทียมหรือใกล้เคียงกัน ด้านลักษณะการเป็นบทละครสำเร็จรูปของบทละครชาตรีเรื่องมโนห์ราของกรมศิลปากรพบว่า บทละครชาตรีเรื่องดังกล่าวมีลักษณะเป็นบทละครสำเร็จรูปซึ่งมีองค์ประกอบ 8 ประการ ได้แก่ การเรียงลำดับเนื้อเรื่อง การระบุวิธีการจัดแสดง การระบุฉาก การระบุตำแหน่งผู้แสดง การกำกับกิริยาอาการผู้แสดง การระบุทำนองเพลงขับร้อง การระบุเพลงหน้าพาทย์ การแทรกบทเจรจา อาจสรุปได้ว่า การมีลักษณะการเป็นบทละครสำเร็จรูปของบทละครชาตรีเรื่องมโนห์ราของกรมศิลปากรจะช่วยรักษาคุณภาพและมาตรฐานของการแสดงละครชาตรีเรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็นคณะละครใดนำบทละครเรื่องนี้ไปจัดแสดง อีกทั้งยังเป็นเครื่องช่วยสืบทอดวิธีการจัดแสดงไว้อีกทาง
Article Details
References
กรมศิลปากร. (2506). THE KHON and LAKON DANCE DRAMAS. กรมศิลปากร.
กรมศิลปากร. (2545). “บทละครครั้งกรุงเก่าเรื่องนางมโนห์รา” ใน วรรณกรรมสมัยอยุธยา เล่ม 3. กรมศิลปากร.
กรมศิลปากร, สำนักการสังคีต. (20 มกราคม 2564). ประวัติสำนักการสังคีต กรมศิลปากร. https://www.finearts.go.th/performing/categorie/history
จักรกฤษณ์ ดวงพัตรา. (2546). วรรณคดีการแสดง. องค์การค้าของคุรุสภา.
จันทิมา แสงเจริญ. (2539). ละครชาตรีเมืองเพชร [วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต]. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต และธานีรัตน์ จตุทะศรี. (2562). พระราชนิพนธ์บทเจรจาละครเรื่องอิเหนา: พระอัจฉริยภาพด้านวรรณคดีการแสดงของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. ธนาเพลส.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. (2546). ละครฟ้อนรำ ประชุมเรื่องละครฟ้อนรำกับระบำรำเต้น ตำรารำ ตำนานเรื่องละครอิเหนา ตำนานละครดึกดำบรรพ์. มติชน.
พัชรินทร์ สันติอัชวรรณ. (2551). หลักการแสดงนางมโนห์ราในละครชาตรีเรื่องมโนห์รา [วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต]. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
พุทธเลิศหล้านภาลัย, พระบาทสมเด็จพระ. (2543). บทละครเรื่องอิเหนา. ศิลปาบรรณาคาร.
มนตรี ตราโมท, แผ้ว สนิทวงศ์เสนี, ท่านผู้หญิง, รณสิทธิพิชัย, พันเอก หลวง, และธนิต อยู่โพธิ์. (2498). บทละครชาตรีเรื่องมโนห์รา. กรมศิลปากร.
มนตรี ตราโมท. (2540). การละเล่นของไทย (พิมพ์ครั้งที่ 2). มติชน.
วีณา วีสเพ็ญ. (2549). วรรณคดีการแสดง. อภิชาติการพิมพ์..
สมพิศ สุขวิพัฒน์. (2538). ผู้ชนะสิบทิศ: ละครพันทางของเสรี หวังในธรรม [วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต]. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สัมพันธ์ สุวรรณเลิศ. (2549). กลวิธีการดัดแปลงวรรณกรรมต้นฉบับ เป็นบทละครนอกของกรมศิลปากร [วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต]. มหาวิทยาลัยศิลปากร.
สัมพันธ์ สุวรรณเลิศ. (2562). อิทธิพลของบทละครดึกดำบรรพ์ที่มีผลต่อการสร้างสรรค์บทละครของกรมศิลปากร กรณีศึกษาบทละครชาตรีเรื่องมโนห์รา. คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.
เสาวณิต วิงวอน. (2555). วรรณคดีการแสดง. ศักดิโสภาการพิมพ์.
โอม รัชเวทย์, จักรพันธุ์ โปษยกฤต, พิไล พราหมณ์พันธุ์, สืบสกุล อ่อนสัมพันธ์, และวิจิตร์ ไชยวิชิต. (2546). ชีวิต ผลงาน โหมด ว่องสวัสดิ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปีพุทธศักราช 2530. สุขภาพใจ.