จริยธรรมการตีพิมพ์
บทบาทของผู้เขียน (Duties of Authors)
1. ผู้เขียนต้องรับรองว่าบทความที่ส่งมาเพื่อรับการพิจารณาตีพิมพ์เป็นผลงานที่ไม่เคยตีพิมพ์ที่ใดมาก่อน ไม่อยู่ระหว่างการพิจารณาของวารสารอื่น และไม่ซ้ำซ้อนหรือละเมิดลิขสิทธิ์จากผลงานเขียนของผู้อื่น
2. บทความที่มีชื่อผู้เขียนหลายคน ต้องได้รับการยินยอมจากผู้เขียนร่วมทุกคน
3. ผู้เขียนต้องศึกษารายละเอียดคำแนะนำสำหรับผู้เขียน/และเขียนบทความตามรูปแบบที่วารสารฯ กำหนด
4. หากมีการนำผลงานของผู้อื่นมาใช้ในบทความที่ส่งมาเพื่อรับการพิจารณาตีพิมพ์ ผู้เขียนต้องทำการอ้างอิงในเนื้อหา (In-text Citation) และทำรายการอ้างอิงท้ายบทความ (Reference) ตามรูปแบบที่วารสารฯ กำหนด
5. กรณีผู้เขียนเป็นนิสิตหรือนักศึกษา บทความที่ส่งมาเพื่อรับการพิจารณาตีพิมพ์ต้องแสดงชื่ออาจารย์ที่ปรึกษาเป็นหนึ่งในผู้เขียนร่วม
6. เนื้อหาทั้งหมดที่ปรากฏในบทความที่ส่งมาเพื่อรับการพิจารณาตีพิมพ์ เป็นความรับผิดชอบของผู้เขียน หากมีการละเมิดลิขสิทธิ์ ผู้เขียนยินยอมรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว
บทบาทของบรรณาธิการ (Duties of Editor)
1. บรรณาธิการต้องพิจารณาคุณภาพบทความเบื้องต้นก่อนเข้าสู่กระบวนการประเมิน โดยไม่มีอคติในทุกด้าน
2. บรรณาธิการต้องไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตนที่อาจพึงมีหรือพึงได้ จากการตอบรับบทความให้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของวารสาร
3. ตลอดระยะเวลาของการประเมินบทความหนึ่ง ๆ บรรณาธิการต้องเก็บรักษาข้อมูลของการประเมินบทความนั้น ๆ โดยไม่เปิดเผยข้อมูลแก่บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง อันอาจนำไปสู่ความเสียหายต่อผู้เขียนและวารสาร
4. หากตรวจพบการคัดลอกผลงานของผู้อื่นในกระบวนการประเมินบทความ บรรณาธิการต้องหยุดกระบวนการประเมินโดยทันที และดำเนินการติดต่อผู้เขียนหลักให้ชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อบรรณาธิการจะได้นำไปใช้ประกอบในการตอบรับหรือปฏิเสธการตีพิมพ์บทความนั้นต่อไป
บทบาทของผู้ประเมินบทความ (Duties of Reviewers)
1. ตลอดระยะเวลาของการประเมินบทความ ผู้ประเมินบทความต้องเก็บรักษาข้อมูลของการประเมินบทความนั้น โดยไม่เปิดเผยข้อมูลแก่บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง อันอาจนำไปสู่ความเสียหายต่อผู้เขียนและวารสาร
2. หากผู้ประเมินบทความได้รับบทความซึ่งตนเองอาจมีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ผู้ประเมินบทความต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบโดยทันที
3. ผู้ประเมินบทความควรประเมินบทความภายในระยะเวลาที่วารสารกำหนด
4. ผู้ประเมินบทความควรประเมินบทความด้วยความรู้ ความสามารถ เพื่อให้บทความที่ได้รับการประเมินมีคุณภาพทางวิชาการ และผู้เขียนสามารถนำข้อเสนอแนะที่ได้รับกลับไปแก้ไขบทความให้มีความสมบูรณ์ และก่อให้เกิดองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อไป
5. ผู้ประเมินบทความควรประเมินบทความในสาขาที่ตนเองมีความเชี่ยวชาญ โดยประเมินบทความในแง่ของคุณภาพทางวิชาการ และไม่นำความคิดเห็นส่วนตัว ความชอบ หรือไม่ชอบ มาใช้ในการตัดสินบทความ
6. หากผู้ประเมินบทความพบว่า มีเนื้อหาส่วนใดส่วนหนึ่งในบทความที่อาจมีความซ้ำซ้อนกับผลงานของผู้อื่น ผู้ประเมินบทความต้องแจ้งให้บรรณาธิการรับทราบโดยทันที