การพัฒนารูปแบบการบริหารระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนนิคมสร้างตนเอง จังหวัดระยอง 5 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต1

Development of Administration Framework for Student Care System in Nikomsangtonangrayong 5 School Under Rayong Education Service Area Office 1

ผู้แต่ง

  • หทัยชนก วงศ์กาฬสินธุ์ (Hathaichanok Wongkalasin), ณัฐนันท์ หาญกิจ (Natthanan Hankit), นพดล แสนผูก (Noppadon Sandphok) โรงเรียนนิคมสร้างตนเอง จังหวัดระยอง5

คำสำคัญ:

รูปแบบการบริหาร/ ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน

บทคัดย่อ

          การวิจัยเรื่อง การพัฒนารูปแบบการบริหารระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนนิคมสร้างตนเองจังหวัดระยอง 5 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 1 มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. ศึกษาสภาพปัญหาและแนวทางการดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน 2. เพื่อสร้างรูปแบบการบริหารระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน 3. เพื่อศึกษาผลจากการนำรูปแบบการบริหารระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนไปใช้
          การดำเนินการวิจัยเป็นการวิจัยแบบผสมผสานแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ 1 ศึกษาสภาพและปัญหาและแนวทางการดำเนินงานของระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนนิคมสร้างตนเองจังหวัดระยอง 5 โดยใช้แบบสอบถาม กลุ่มผู้ให้ข้อมูลได้แก่ ผู้บริหาร 2 คน ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา 31 คน และผู้ปกครอง 120 คน โดยใช้วิธีการเลือกแบบเฉพาะเจาะจง และเก็บรวบรวมข้อมูลจากการสนทนากลุ่ม ผู้ให้ข้อมูลคือ ผู้บริหารสถานศึกษา 2 คน และข้าราชการครู 5 คน ผู้ปกครอง 24 คน โดยเลือกแบบเฉพาะเจาะจง วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา ขั้นที่ 2 กำหนดองค์ประกอบของรูปแบบโดยนําผลการการสังเคราะห์แนวคิดทฤษฎี การสังเคราะห์แนวคิด เครื่องมือ และงานวิจัยที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน มากําหนดองค์ประกอบของรูปแบบการบริหารระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนนิคมสร้างตนเองจังหวัดระยอง 5 วิพากษ์ตรวจสอบรูปแบบโดยการสนทนากลุ่มเพื่อประเมินรูปแบบการบริหารระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนนิคมสร้างตนเองจังหวัดระยอง 5 โดยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญจํานวน 8 คน ขั้นที่ 3 การประเมินผลจากการนำรูปแบบการบริหารระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนไปใช้ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้แบบประเมิน และสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง
           ผลการวิจัย พบว่า
           1. การศึกษาสภาพและปัญหาและแนวทางการดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน พบว่าโรงเรียนขาดการวางแผนอย่างเป็นระบบในการจัดทำระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน บุคลากรขาดความตระหนักถึงความสำคัญของระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน และขาดการมีส่วนร่วมในการวางแผนการดำเนินงานของระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน การจัดเก็บข้อมูลของนักเรียนไม่เป็นระบบ ทำให้ข้อมูลไม่เพียงพอในการคัดกรองและผู้ปกครองขาดการมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูล ครูยังขาดความรู้ความเข้าใจในการจัดกิจกรรมส่งเสริมนักเรียนให้มีประสิทธิภาพ กิจกรรมในการส่งเสริมนักเรียนยังไม่ชัดเจน ขาดการประสานงานสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนกับผู้ปกครอง ครูขาดทักษะในการให้คำปรึกษาเบื้องต้นกับนักเรียน และยังขาดการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และผู้ปกครองขาดการมีส่วนร่วมในการป้องกันช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาของนักเรียน  กระบวนการส่งต่อยังขาดการปประสานงานที่ดีทั้งภายในและภายนอกหน่วยงาน ขาดหลักฐานข้อมูลการส่งต่อที่ชัดเจน ขาดการนิเทศ กำกับ ตรวจสอบติดตามอย่างจริงจังจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
          2. รูปแบบการบริหารระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนนิคมสร้างตนเองจังหวัดระยอง 5 ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ คือ 1. การบริหารจัดการ (Management) 2. การบริหารจัดการการรู้จักผู้เรียนรายบุคคล/การคัดกรองนักเรียน (Individual) 3. การสร้างเครือข่าย (Network) ในการป้องกันแก้ไขปัญหาและส่งต่อ 4. การพัฒนาและส่งเสริมนักเรียน (Development)
          3. ผลของการใช้รูปแบบพบว่า รูปแบบมีความเหมาะสมต่อบริบทของโรงเรียน มีความชัดเจนเอื้อต่อการทำงานของครูและส่งเสริมคุณภาพของนักเรียน

References

ธิตินัดดา สิงห์แก้ว. (2562). การพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโดยใช้วงจร PDCA : กรณีศึกษาโรงเรียนวัดป่าตึงห้วยยาบ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน. [วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต]. มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.

นัฏพันธ์ ดิศเจริญ. (2565). ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน. Journal of Modern Learning Development,7(3),321-335.

บรรทม รวมจิตร. (2553). การศึกษาสภาพการดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนเวียงแก่นวิทยาคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงราย เขต 4 [วิทยานิพนธ์ปริญญาครุศาสตรมหาบัณฑิต]. มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย.

ปุญชรัศมิ์ พันธุวัฒน์. (2562). การพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการงานคัดกรองนักเรียนของระบบการดูแล ช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนพร้าววิทยาคม จังหวัดเชียงใหม่. วารสารศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, 21(2), 176–187.

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (2546). การบริหารจัดการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้วิกฤตสังคม. ชวนทิพย์.

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (2559). การพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน. โรงพิมพสหกรณ์ การเกษตรแห่งประเทศไทย.

อวยชัย ศรีตระกูล (2556). การพัฒนารูปแบบระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา. วารสารศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, 15(4), 85-95.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-06-26