“รัฐศาสตร์สาร” เป็นวารสารวิชาการฉบับแรกของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีวัตถุประสงค์เป็นสื่อกลางสำหรับแลกเปลี่ยนนานาทัศนะในหมู่นักวิชาการและเผยแพร่ความรู้ด้านสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ ทั้งในรูปบทความวิจัย บทความวิชาการ บทความแปล และบทปริทัศน์หนังสือ

ปีที่ 45 ฉบับที่ 1 (2567): รัฐศาสตร์สาร

บทนำ

          การแบ่งขั้ว (polarization) ทางโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองและสังคมดำเนินไปด้วยความซับซ้อน  เสรีนิยมใหม่เป็นจำเลยสำคัญของการเป็นต้นตอของปัญหา  การทำทุกอย่างให้เป็นของเอกชน (privatization) ทำลายความเป็นสาธารณะ ประโยชน์ส่วนบุคคลคือเป้าหมายสำคัญของเสรีนิยมใหม่ จากการศึกษาจนถึงสาธารณสุขและบุคคลการขยายพื้นที่ความเป็นเอกชนคือวิถีทางสำคัญของการดำเนินชีวิตหนทางแห่งความเป็นเอกชนคือหนทางที่จะหลุดพ้นจากการเป็นเผด็จการเและยังเป็นหนทางไปสู่เสรีภาพของปัจเจกชน การปราศจากรัฐแทรกแซงคือหนทางแห่งความเสรี 

          นับตั้งแต่พระผู้เป็นเจ้าแบบเอกเทวนิยม (monotheism) ปลดปล่อยชาวยิวออกจากการเป็นทาสในอียิปต์. หลายร้อยปีแห่งการเป็นทาสของยิวจบลงด้วยการเป็นอิสระ  แต้ก็ยังมีกฎเกณฑ์มากมายที่ยังควบคุมตามวิถีชีวิตแบบยิว การดำรงชีวิตอยู่อย่างปราศจากพันธนาการนั้นเป็นหนทางที่พระผู้เป็นเจ้ามอบให้ 

          ระยะเวลาทางประวัติศาสตร์ของความเป็นเสรีชนที่พระผู้เป็นเจ้ามอบให้นั้นดำรงอยู่อย่างยาวนาน  แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์  จาก Feudalism จนถึง Socialism ล้วนแล้วแต่บ่งบอกถึงพันธนาการ  Friedrich August von Hayek จึงจำเป็นที่จะต้องตอกย้ำถึงภัยอันตรายของผู้คนที่ไม่เชื่อในเสรีภาพของเอกชนด้วยการปล่อยให้อำนาจของลัทธิที่พุ่งเป้าไปสู่ความเป็นส่วนรวม (collectivism)  The Road to Serfdom ออกสู่ตลาดในปี ค.ศ. 1944 ชี้ให้เห็นถึงภัยอันตรายของเผด็จการเบ็ดเสร็จภายใต้เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ  จากการนับเวลาแบบคริสต์ในปีของการตีพิมพ์ he Road to Serfdom นั้นมาจนถึงเวลาปฏิทิน ค.ศ. 2024 ก็เป็นเวลาแปดสิบปี 

          สามสิบปีหลังจากการตีพิมพ์หนังสือ The Road to Serfdom ที่กล่าวเตือนถึงภัยอันตรายของบทบาทของรัฐบาลกลางที่แทกแซงเศรษฐกิจสังคมด้วยอำนาจทางการเมืองคือความสำเร็จของ von Hayek  รัฐบาลกลางที่มีอำนาจมากมายอย่างนาซีและคอมมิวนิสต์คือภัยอันตรายที่ทำให้คนจำนวนมากเมื่อคิดถึงอันตรายและความโหดเหี้ยมของรัฐก็ต้องคิดถึงรัฐบาลนาซี  รัฐภายใต้การนำของสตาลิน ใครๆ จึงอดคิดถึงทศวรรษที่ 1930 ไม่ได้  แม้ว่าเงื่อนไขของโลกในสองทศวรรษแรกของศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดจะแตกต่างกันไป  แต่ประวัติศาสตร์และความทรงจำเป็นประสบการณ์ที่ยอมรับกันได้ว่าเป็นจริงมากกว่าการคาดเดาเหตุการณ์ในอนาคต

          การมอบรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ให้กับ von Hayek ในปี ค.ศ. 1974 นั้นเป็นเวลาที่บ่งบอกการเริ่มการสยายปีกเสรีนิยมใหม่  เพียงแต่นักเศรษฐศาสตร์อีกคนหนึ่งที่ได้รับรางวัลร่วมกันคือ Gunnar Myrdal มักจะไม่ได้มีบทบาททางความคิดอีกต่อไป ความทรงจำที่มีต่อ Myrdal นั้นไม่ก็เหมือนกับมนุษย์ทั่วๆ ไปคือการไม่อยู่ในความทรงจำ  เพราะมนุษย์ด้วยกันเองจะต้องไม่จำเป็นที่จะต้องความทรงจำกับอดีตแม้กระทั่งบรรพบุรุษของตัวเอง 

          ถึงแม้ว่าช่องว่างที่ห่างกันมากมายระหว่างประเทศร่ำรวยและยากจนจะห่างกันออกไปเรื่อยตามแบบที่ Myrdal ได้ให้ภาพที่แสนหดหู่เอาไว้ก็ตาม  สำหรับช่องว่างที่ชี้ถึงความทุกข์ยากย่อมเป็นอะไรที่ไม่น่าจดจำ  นอกจากนั้นมีหลากหลายประเทศที่ไล่ตามประเทศร่ำรวยทัน  แม้ว่าจะยังไม่เห็นภาพชัดในประเทศจำนวนมากก็ตาม 

          การเป็นคริสต์ชนที่ดีจะต้องมีความหวัง  เพราะนอกจากความศรัทธา ‘caritas’ แล้วความหวังก็เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของคริสต์ศาสนา  การมีความหวังที่ปราศจากศรัทธาย่อมทำให้ความหวังเสื่อมถอย  จนทำให้ความหวังเป็นเพียงภาพอุดมคติที่พลิกผันไปจากประสบการณ์ชีวิตที่อยู่ในความทรงจำ แปดสิบปีของความหวังและความหดหู่ที่โลกอนาคตดำมืดดำเนินไปคู่กัน 

          ชีวิตคู่ของความหวังและความหดหู่ดำเนินไปเปรียบได้กับ ‘double movement’   สำหรับ “ทวิการเคลื่อนไหว”  เป็นคำที่มาจาก Karl Polanyi ผู้ที่ในปี ค.ศ. 1944 ได้ออกหนังสือ The Great Transformation The Political and Economic Origins of Our Time ที่แปลออกมาเป็นภาษาไทย โดยภัควดี วีระภาสพงษ์ ในปี พ.ศ. 2559

          ถึงแม้ว่าทั้ง von Hayek และ Polanyi ต่างเกิดที่กรุงเวียนนาในเวลาที่แตกต่างกัน ค.ศ. 1899 และ ค.ศ. 1886 ตามลำดับ เพียงแต่ Polanyi เติบโตที่กรุงบูดาเปสก่อนที่จะกลับมาใช้ชีวิตที่กรุงเวียนนาก่อนที่จะอพยพมาอังกฤษในปี ค.ศ. 1933 ในขณะที่ von Hayek รับตำแหน่งที่ London School of Economics and Political Sciences ในปี ค.ศ. 1931 ในขณะที่ Polanyi ไม่ได้มีโอกาสใช้ชีวิตกับเหล่าผู้ผลิตความรู้ชั้นนำแบบ von Hayek แต่หากินด้วยสอนหนังสือให้กับตลาดความรู้ยามค่ำคืน  ชีวิตของ Polanyi ก่อนที่จะทำมาหากินกับการผลิตความรู้แบบชนชั้นนำทางการศึกษานั้นก็ตัวเลขของชีวิตก็ขึ้นเลขหกแล้ว

          ทั้งสองมีจุดยืนที่เรียกได้ว่าเป็น ‘double movement’ ได้ เพียงแต่ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง ‘double movement’ แบบ Polanyi ที่ชี้ให้เห็นถึงกการขยายตัวของตลาดและการต่อต้าน  การต่อต้านที่ในโลกภายใต้อุดมการณ์ ‘Globalization’ (มากกว่าที่จะเป็น ‘mondialization’) ของเสรีนิยมใหม่คือหนทางที่ดำเนินควบคู่ไปกับอุดมการณ์เสรีนิยมแบบใหม่และความเป็นปัจเจกชนตามวิถีทางแบบ Anglo-American ที่ขยายตัวไปพร้อมกับคำศัพท์ของ Theodore Levitt มากกว่า Francois Perroux ทั้งๆ ที่ฝ่ายหลังใช้มาก่อนสองทศวรรษ  เส้นทางของ ‘globalization’ ในฐานะการขยายตัวของเสรีนิยมใหม่บ่งบอกถึงอุดมการณ์ตลาด  โดยจำเป็นที่จะต้องมีผู้ปฏิบัติการในตลาดแบบปัจเจกชน ‘individual’ จึงขยายตัวไปพร้อมๆ กัน  เป้าหมายของการสร้างตลาดและปัจเจกชนจึงต้องไปด้วยกัน

          ทวิการเคลื่อนไหวในประสบการณ์ชีวิตของทั้งสอง von Hayek และ Polanyi นั้นต่างมีเส้นทางของตัวเอง ท่ามกลางการขยายตัวของอำนาจรัฐในทศวรรษที่ 1930 ฝ่ายผู้มาจากสายตระกูลขุนนางอย่าง von Hayek เห็นถึงโลกอันสวยงามของตลาดเสรี  ในขณะที่ Polanyi ผู้เติบโตมาจากครอบครัวยิวที่ทำมาหากินกับธุรกิจรถไฟกลับเห็นความไม่งดงามของการขยายตัวของตลาด  ถ้าจะใช้ภาษาแบบการต่อสู้ของยุคก่อน ‘the End of History’ อำนาจของกงล้อประวัติศาสตร์ของพลังแห่งตลาดหลีกหนีไม่พ้นที่จะต้องเผชิญกับการต่อต้าน  การขยายอำนาจต้องเจอกับการต่อต้าน การทำลายล้างของ ‘กงล้อแห่งตลาด’ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้  โดยพลังแห่งการทำลายล้างของตลาดที่บดขยี้ทุกสิ่งที่ขัดขวาง  การขยายตัวของตลาดนั้นอยู่เหนือสิ่งอื่นใด  พลังแห่งการทำลายล้างจะไม่มีข้อยกเว้นให้กับอะไร  แม้กระทั่งตัวเอง  ทุกๆ อย่างจะถูกทำลายอย่างเท่าเทียมกัน  จากธรรมชาติมาสู่สังคม รัฐ ครอบครัว ปัจเจกชน และในท้ายที่สุดก็อาจจะเป็นตลาดเอง ไม่มีอะไรที่หลุดรอดไปได้

          แต่ก่อนที่จะถึง ‘วันล้างโลก’ หรือ ‘วันโลกาวินาศ’ ภายใต้การทำลายตัวเองตามวิถีการบรรยายของ Eschatology อันเป็นแนวทางของยิว-คริสต์นั้นจึงหลีกเลี่ยงความวุ่นวายไปไม่ได้  การขยายตัวของตลาดไปสู่ทุกๆ อณูในโลกนั้นกลับนำไปสู่การต่อสู้ การต่อต้าน ความขัดแย้ง  การทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างหรือทุกๆ ความสัมพันธ์กลายเป็นเรื่องตลาดย่อมทำให้ผู้เสียประโยชน์ต่อต้าน  หนทางไปสู่หายนะจำเป็นที่จะต้องมีฝ่ายหยุดยั้งหรือ  ‘Katechon

          สำหรับฝ่ายนิยมตลาดที่กำกับด้วยอุดมการณ์เสรีนิยมก็ย่อมต้องบรรยายถึงความคับแคบไปจนถึงล้าหลังของฝ่ายต่อต้านตลาดผู้ไม่พร้อมจะปรับเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับวิถีชีวิต ค่านิยม และคุณธรรมแบบใหม่  คุณธรรมแห่งตลาดและเสรีภาพ. คุณธรรมที่ยังแสดงความเป็นอารยะนั้นทุกๆ คนในสายสัมพันธ์ทางตลาดจะได้ปฏิบัติตนในฐานะผู้ทำงาน ผู้ผลิต ผู้บริโภค ผู้ขายบริการ ผู้ให้บริการ ฯลฯ เพราะทุกๆ อย่างปฏิบัติการได้ด้วย ‘ราคา’ ที่เหมาะสมกับทุกๆ คน

          อะไรที่ขัดขวางความเป็นปัจเจกชนแบบตลาดที่ทุกๆ คนต้องมีเสรีภาพและพร้อมที่จะตัดสินใจด้วย ‘rationality’  ของตัวเองอย่างสมัครใจนั้นจึงต้องถูกทำลาย  ความเป็นกลุ่มก้อนแบบครอบครัว ศาสนา ชุมชน และรัฐประชาชาติ ต่างบ่งบอกถึงความเป็น ‘เผ่า’ ทั้งหมดนี้จึงต้องถูกบดขยี้เพื่อเปิดทางให้กับเสรีภาพของปัจเจกชน  ในขณะเดียวกันรัฐก็จำเป็นที่จะต้องเป็นมากกว่า ‘กรรมการห้ามมวย’ เพราะจะต้องทำหน้าที่เป็นผู้ส่งเสริมให้เสรีภาพแห่งความเป็นปัจเจกชนเฟื่องฟูและมั่นคง  เสรีภาพของปัจเจกชนไปจนถึงเสรีภาพทางเศรษฐกิจจจะต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ส่วนอะไรที่ขัดขวางเสรีภาพของปัจเจกชนแม้กระทั่งธรรมชาติและวิวัฒนาการก็จำเป็นที่จะต้องถูกย่อยสลาย  ความเป็นอมตะของมนุษย์ที่จะทำให้มนุษย์ยิ่งใหญ่ประหนึ่งพระผู้เป็นเจ้าจึงเป็นเป้าหมายสูงสุด  เป้าหมายสูงสุดของปัจเจกชนตามแบบเสรีนิยมใหม่จึงเปรียบประหนึ่งการมุ่งไปสู่ ‘Eleutheria’

          ถึงแม้ว่าเจตจำนงในการควบคุมอยู่เหนือธรรมชาติจะปรากฎในความคิดของ Francis Bacon ในพระคัมภีร์ไบเบิล Genesis 1:28 ต้องการให้สืบต่อสายพันธุ์พร้อมๆ กันกับการควบคุมสิ่งมีชีวิตอื่นๆ  แต่การควบคุมปกครองสัตว์อื่นๆ ก็สามารถขยายไปยังการปกครองควบคุมมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมตัวมนุษย์เอง  ความสามารถพิเศษในการควบคุมธรรมชาตินั้นรวมไปจนถึงการไม่สืบต่อพันธุ์  เสรีภาพที่ปราศจากการควบคุมจากธรรมชาติแสดงออกผ่านการไม่สืบต่อเผ่าพันธุ์  การลดลงของประชากรในประเทศร่ำรวยเป็นหนึ่งในดัชนีชี้ถึงเสรีภาพแห่งความเป็นปัจเจกชน

ธเนศ วงศ์ยานนาวา

หมายเหตุ: สำหรับผู้ที่สนใจบทความฉบับเต็มสามารถติดต่อสั่งซื้อได้ที่สายส่งเคล็ดไทย

เผยแพร่แล้ว: 2024-04-23

ดูทุกฉบับ

“รัฐศาสตร์สาร” เป็นวารสารวิชาการฉบับแรกของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีวัตถุประสงค์เป็นสื่อกลางสำหรับแลกเปลี่ยนนานาทัศนะในหมู่นักวิชาการและเผยแพร่ความรู้ด้านสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ ทั้งในรูปบทความวิจัย บทความวิชาการ บทความแปล และบทปริทัศน์หนังสือ