เชื่อใจในตัวครู : กุญแจสู่การศึกษาชั้นนำฉบับฟินแลนด์
Main Article Content
Abstract
ฟินแลนด์ได้รับความสนใจจากนักการศึกษา นักวิจัย และนักข่าวนานาประเทศ หลังจากแสดงให้เห็นผลสัมฤทธิ์อันโดดเด่นผ่านคะแนนสอบ PISA สิ่งที่พวกเขาพบคือ ฟินแลนด์มีคาบเรียนสั้น มีช่วงพักระหว่างวันเยอะ ไม่มีการสอบวัดมาตรฐานระดับชาติ ไม่มีการตรวจสอบจากภายนอก ไม่มีภาระรับผิดชอบเชิงลงโทษสำหรับครู ทั้งยังให้การสนับสนุนทรัพยากรทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม และครูเป็นอาชีพที่มีสถานะทางสังคมสูง ฟินแลนด์คือประเทศที่มีระบบการศึกษาแข็งแกร่งและมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในอันดับต้น ๆ ของโลก ความสำเร็จนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้หากปราศจากกำลังสำคัญที่คอยขับเคลื่อนอย่าง “ครู” ผู้เปิดประตูแห่งความรู้ให้ผู้เรียน และกุญแจสำคัญที่จะไขประตูบานนี้ได้คือ ความเชื่อใจ พจนานุกรมเคมบริดจ์นิยามว่า การเชื่อใจ (ใครสักคนหรืออะไร สักอย่าง) คือ “การเชื่อว่าคนคนนั้นเป็นคนดี ซื่อสัตย์ และเขาจะไม่ทำร้ายคุณ หรือสิ่งนั้นปลอดภัยและไว้ใจได้” โดยการ “เชื่อใจครู” ในฟินแลนด์นั้นมีลักษณะสำคัญ คือ การเชื่อใจครูไม่ใช่การปล่อยให้พวกเขาทำอะไรก็ได้ตามต้องการในโรงเรียน … การเชื่อใจในโรงเรียนก็มีมากกว่าการหยิบยื่นงบประมาณจากภาษีให้ แล้วสั่งให้พวกเขาจัดการตัวเองตามปรารถนา เมื่อ 16 มีนาคม 2020 รัฐบาลฟินแลนด์ตัดสินใจปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั้งหมดภายในสองวัน โรงเรียนได้รับคำแนะนำให้จัดการเรียนการสอนทางไกลโดยใช้วิธีการทางเลือกอื่น ๆ ซึ่งมีทั้งแบบดิจิทัลและการเรียนด้วยตนเอง ครูมีเวลาหนึ่งวันเต็มในการคิดแผนต่าง ๆ เพื่อไม่ให้มีเด็กถูกทิ้งและได้รับผลกระทบ ในขณะที่หน่วยงานรัฐกำลังวุ่นวายกับการจัดการความตื่นตระหนกด้านสุขภาพและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเพราะโรคระบาด เจ้าหน้าที่การศึกษาและโรงเรียนในท้องถิ่นก็ได้รับการสนับสนุนให้ใช้ภูมิปัญญาในวิชาชีพอย่างดีที่สุดเพื่อจัดการเรียนการสอนให้ดีที่สุด ความเชื่อใจแสดงให้เห็นพลังที่แท้จริงในสถานการณ์ใหม่ ๆ อันคาดไม่ถึง สถานการณ์ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าควรทำอะไรต่อไป ความเชื่อใจต้องเกิดจากทั้งสองฝั่ง นั่นคือรัฐเชื่อใจครู และครูเชื่อใจรัฐในการทำสิ่ง ที่ต้องทำ
หนังสือ เชื่อใจในตัวครู : กุญแจสู่การศึกษาชั้นนำฉบับฟินแลนด์ ของ ปาสิ ซอลห์เบิร์ก เป็นศาสตราจารย์ด้านนโยบายการศึกษาที่มหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ ซิดนีย์ เขามีประสบการณ์ยาวนานในการเป็นครูโรงเรียน อาจารย์ฝึกหัดครูและผู้กำหนดนโยบายในประเทศฟินแลนด์ และ ทิโมธี ดี. วอล์กเกอร์ เป็นครูชาวอเมริกันที่อาศัยอยู่ในเมืองเอสโป ประเทศฟินแลนด์ ที่เชื่อในวิถีการสอนแบบฟินแลนด์ นำเสนอระบบการศึกษาอันแข็งแกร่งบนรากฐานของความเชื่อใจ ซึ่งสนับสนุนให้ครูมีบทบาทกำหนดทิศทางการศึกษา มีสถานะทางอาชีพที่มั่นคง ไม่ถูกตีกรอบทางความคิด หนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็นสองภาค ภาคหนึ่ง ดินแดนแห่งความเชื่อใจ ว่าด้วยการพัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับความเชื่อใจแบบองค์รวม แนวทางการศึกษาแบบฟินแลนด์และวิวัฒนาการความเชื่อใจต่อครูชาวฟินแลนด์ ภาคสอง หลักเจ็ดประการ พร้อมตัวอย่างการนำไปใช้จริง อาทิ กระบวนการบ่มเพาะ “อำนาจตัดสินใจ” ของครู วิธีส่งต่อความเชื่อใจและสร้างผู้เรียนที่รู้จักรับผิดชอบ การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้ให้ครูและนักเรียน และระบบช่วยเหลือเด็กที่มีความต้องการเฉพาะ ตามแนวคิด “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ซึ่งจะสำรวจผ่านหลัก 7 ประการ สำหรับสร้างวัฒนธรรมความเชื่อใจในโรงเรียนประกอบด้วย
1) สอนครูให้คิด กลยุทธ์ฝึกครูให้คิด จึงหมายถึงหลักสูตรวิชาชีพครูสมัยใหม่ที่มักสอนให้ครูคิดอย่างลึกซึ้ง และเข้าใจพฤติกรรมกับอารมณ์ของตนเมื่ออยู่ในโรงเรียนได้ดีขึ้น นอกจากนี้ วิชาศึกษาศาสตร์ในฟินแลนด์ยังมีอุดมคติเรื่อง “ครูที่คิดเชิงการสอน” ซึ่งการคิดเชิงการสอน (Pedagogical thinking) หมายถึง กระบวนการทางความคิดที่อธิบายว่าครูตัดสินใจอย่างหลากหลายในระหว่างการสอนได้อย่างไร และหากเราต้องการสนับสนุนให้ครูคิดเพื่อตัวเองมากขึ้น ก็ต้องให้เวลาและพื้นที่สำหรับคิดใคร่ครวญเกี่ยวกับความเชี่ยวชาญของตนแก่ครู โดยในทางปฏิบัติคือ เมื่อเริ่มปีการศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียนจะมอบสมุดบันทึกซึ่งเป็นสัญลักษณ์อันทรงพลังแก่ครู เป็นการแสดงให้เห็นว่าโรงเรียนมุ่งเน้นการทบทวนและสะท้อนการปฏิบัติงาน หรืออาจเป็นเรื่องง่าย ๆ อย่างการเริ่มต้นการประชุมแต่ละสัปดาห์ด้วยการสะท้อนคิด (Reflection) แล้วแลกเปลี่ยนกันในคณะครูและผู้อำนวยการ
2) บ่มเพาะคนรุ่นต่อไป กลยุทธ์บ่มเพาะคนรุ่นต่อไป เริ่มต้นด้วยการที่อาจารย์ผู้ดูแลนักศึกษาฝึกสอนใช้เวลาบรรยายเกี่ยวกับเด็กนักเรียนให้นักศึกษาฟังเป็นส่วนใหญ่ในช่วงแรกเริ่ม จากนั้นบทสนทนาแบบเห็นหน้าจะช่วยให้นักศึกษาค้นหาหนทางบ่มเพาะความเชื่อใจในหมู่เด็กนักเรียน และรับมือกับความต้องการเฉพาะตัวของแต่ละคนได้ อีกสิ่งที่มีค่ายิ่งซึ่งทุกโรงเรียนทำได้คือ การให้ครูได้แลกเปลี่ยนข้อค้นพบจากเด็กนักเรียนของตน ครูสามารถสร้างบทสนทนาที่มีเด็กเป็นศูนย์กลางได้โดยพูดคุยเกี่ยวกับเด็กแต่ละคนใน 4 ด้าน ได้แก่ ความสนใจ ศักยภาพ ความท้าทาย และกลยุทธ์ เกี่ยวกับนักเรียน
3) อิสระภายในกรอบ ฟินแลนด์ไม่เพียงมอบอิสระและอำนาจตัดสินใจแก่ครู แต่ระบบการศึกษาฟินแลนด์เชื่อว่าห้องเรียนก็เป็นของเด็กด้วย ในชุดการเรียนสหวิชา เด็กจะแบ่งเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ตั้งคำถามวิจัย พัฒนาคำถาม และสมมติฐาน จากนั้นก็ลงมือเก็บข้อมูล อาจมีการนำเสนองานอันหลากหลาย
4) สร้างผู้เรียนที่รับผิดชอบเป็น กลยุทธ์การบ่มเพาะผู้เรียนที่รับผิดชอบเป็น มีวิธีปฏิบัติอันเรียบง่ายอย่างหนึ่งที่เห็นได้ทั่วไปในฟินแลนด์ ซึ่งครูจะจับคู่กับครูต่างระดับชั้นอีกคนหนึ่งเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสองชั้นเรียนเป็นเวลาหนึ่งปี วิธีนี้เรียกว่า กุมมิต (kummit แปลว่า พ่อแม่ทูนหัว) วิธีนี้เป็นการผูกพันชั้นเรียนทั้งสองนานสิบเดือน ประกอบด้วยนักเรียนที่จับคู่กันและคอยช่วยเหลือกันในด้านต่าง ๆ และยังผนึกกำลังครูซึ่งมีภารกิจร่วมกันในการทำสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่เด็ก ๆ โดยไม่เป็นการเพิ่มภาระของครู แม้แนวทางนี้จะมุ่งให้เกิดประโยชน์ต่อนักเรียนเป็นหลัก แต่ครูมือใหม่ก็ได้รับคำแนะนำที่สำคัญและเป็นธรรมชาติจากครูที่มีประสบการณ์มากกว่าด้วย
5) เล่นเป็นทีม ทุนทางสังคมคือเครือข่ายความสัมพันธ์ที่บุคคล กลุ่ม หรือหน่วยบางอย่างสร้างขึ้นและใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น ในโรงเรียนที่มีทุนทางสังคมดี เราจะเห็นครูพูดถึงงานของตนในฐานะวิถีปฏิบัติแบบร่วมมือร่วมแรง พวกเขาเข้าถึงชั้นเรียนของครูคนอื่นได้เป็นปกติ ประชุมกันเป็นประจำ และร่วมกันวางแผน โรงเรียนเช่นนี้มีความเชื่อใจในตัวครูสูงกว่าโรงเรียนที่มีทุนทางสังคมต่ำ โดยการสร้างทุนทางสังคมนั้นมีวัตถุดิบสามอย่างได้แก่ ตารางสอนที่ยืดหยุ่น ศูนย์ความร่วมมือ และวิธีคิดแบบอิงกลุ่ม
6) แบ่งปันความเป็นผู้นำ ในฟินแลนด์ ผู้อำนวยการเป็นครูที่ผ่านการฝึกฝนและมักใช้เวลาหลายปีในชั้นเรียนก่อนจะไปเป็นผู้บริหารโรงเรียน ผู้อำนวยการจำนวนมากยังคงมีวิชาสอนในแต่ละสัปดาห์ สำหรับที่นี่แล้ว มีความคาดหวังโดยทั่วไปว่าผู้อำนวยการต้องวางเท้าอย่างน้อยข้างหนึ่งไว้ในห้องเรียนเสมอ
7) เชื่อใจกระบวนการ ระบบการศึกษาของฟินแลนด์เข้าใจดีว่า “เด็กทุกคนมีความต้องการเฉพาะ” และเด็กทุกคนเรียนรู้สิ่งที่จำเป็นต้องเรียนได้หากมีเงื่อนไขการเรียนรู้ที่เหมาะสม ทำให้ฟินแลนด์ต่างจากประเทศตรงที่ 1) ครูทั้งหมดต้องเรียนวิชาการศึกษาพิเศษ 2) นักการศึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาวะทำงานกันเป็นทีมเพื่อเข้าช่วยเหลือเด็ก ๆ ให้เร็วที่สุด รวมถึงมีมาตรการเชิงป้องกันก่อนเกิดปัญหาด้วย 3) ระบบสาธารณสุขทำงานร่วมกับนักการศึกษา และในส่วนการประเมินการศึกษาของฟินแลนด์ประกอบด้วย 1) โรงเรียนใช้การประเมินโดยสุ่มตัวอย่าง การประเมินเนื้อหาการสอน การประเมินตนเอง และรายงานจากองค์การบริหารท้องถิ่น 2) นักเรียนจะได้รับการประเมินจากครูเป็นหลัก ครูมีอิสระในการออกแบบการทดสอบตามที่เห็นสมควร
บทเรียนที่น่าสนใจจากทั่วโลกอีกประการหนึ่งคือ เราได้เห็นว่าการปิดโรงเรียนในระหว่างมีโรคระบาดส่งผลกระทบต่อเด็ก ๆ อย่างไรในประเทศที่คาดหวังให้นักเรียนดูแลตัวเองและรับผิดชอบการเรียนรู้ของตนเอง การเปลี่ยนไปเรียนทางไกลเป็นไปได้อย่างราบรื่นกว่า เป็นที่ทราบกันว่าโรงเรียนในฟินแลนด์เป็นสถานที่ที่นักเรียนได้รับแรงกระตุ้นและเรียนรู้ที่จะจัดการเรียนรู้ของตนเอง ความเชื่อใจทั้งต่อตัวครูและนักเรียนจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญของการเรียนรู้ด้วยตนเองในโรงเรียนฟินแลนด์ เพราะระบบการศึกษาที่แข็งแกร่งไม่อาจพัฒนาได้ด้วยนวัตกรรมวิเศษหรือครูยอดมนุษย์ไม่กี่คน แต่ต้องอาศัยความเชื่อใจที่เชื่อมร้อยครู ผู้บริหาร ผู้กำหนดนโยบาย ผู้ปกครอง และนักเรียนเข้าด้วยกัน นี่คืออิฐก้อนแรกที่เป็นรากฐานสำคัญ เพื่อปูทางสู่อนาคตอันเปี่ยมความหวังของคนรุ่นต่อไป ความเชื่อใจดังกล่าวมีองค์ประกอบห้าประการดังนี้ 1) ความเมตตา (Benevolence) 2) ความซื่อสัตย์ (Honesty) 3) ความเปิดกว้าง (Openness) 4) ความน่าเชื่อถือ (Reliability) และ 5) ศักยภาพ (Competence) ซอลห์เบิร์กกับวอล์กเกอร์ยังเขียนถึงประโยชน์ของความเชื่อใจไว้ว่า
- เป็นกาวประสานที่ส่งเสริมการพึ่งพาอาศัยกันทางสังคมเชิงบวกและความกลมเกลียวในระบบการศึกษา
- เป็นองค์ประกอบสำคัญของการร่วมมือกันในโรงเรียน
- ช่วยเพิ่มระดับความซื่อสัตย์และโปร่งใสระหว่างครู กระตุ้นครูให้ส่งเสียงและรับฟังเสียงสะท้อนทางวิชาการ
- เกิดความสัมพันธ์ที่สมบูรณ์ระหว่างครูกับนักเรียน เมื่อครูเชื่อใจนักเรียนโดยมอบหมายความรับผิดชอบและ
ให้อำนาจในการดูแลตัวเองอย่างสมเหตุสมผลให้
- ความเชื่อใจมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน
หนังสือเล่มนี้ออกเผยแพร่ในช่วงเวลาที่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่งต่อการปฏิรูปการศึกษาของประเทศเรา สาระในหนังสือจะช่วยสนับสนุนการดำเนินการจัดการศึกษาตามนโยบาย ซึ่งได้กล่าวถึงกระบวนการสร้างความเชื่อใจให้เกิดขึ้นในห้องเรียนฟินแลนด์ แสดงให้เห็นว่าการเชื่อใจครูเป็นส่วนประกอบสำคัญของความเป็นเลิศด้านการศึกษาและ สุขภาวะ สังคมแห่งความเชื่อใจเป็นสังคมแห่งสุขภาวะ ความเชื่อใจเป็นสุขภาวะทางสังคม โรงเรียนต้องเป็นพื้นที่สร้างสุขภาวะทางสังคม และรับผิดชอบการบ่มเพาะพลเมืองที่เชื่อใจได้ รวมทั้งหลักเจ็ดประการที่จะช่วยให้โรงเรียนและครูนำมาประยุกต์ใช้ได้ ระบบการศึกษาและโรงเรียนที่ดีไม่อาจสร้างได้ด้วย “ครูยอดมนุษย์” ไม่กี่คน เพราะนี่เป็นกีฬาประเภททีม และต้องเป็นทีมที่เชื่อใจกัน นอกจากเชื่อใจในตัวครูแล้ว ยังต้องถักทอความสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างโรงเรียน ผู้บริหาร ผู้กำหนดนโยบาย ผู้ปกครอง ครู ตลอดจนเด็กนักเรียน เพื่อให้การเรียนการสอนในห้องเรียนไทยมีความเชื่อใจกันมากขึ้นและนำไปสู่การเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ หนังสือเล่มนี้จะช่วยชี้แนะแนวทางการพัฒนาระบบการศึกษาไทยให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งของการศึกษาที่มีคุณภาพ
Article Details
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
ข้อกำหนดเบื้องต้นที่ผู้นิพนธ์(ผู้ส่งบทความ) ควรทราบ
1. ผู้นิพนธ์ที่ประสงค์จะลงตีพิมพ์บทความกับวารสาร ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 เป็นต้นไป ให้ใช้รูปแบบใหม่ (Template 2563) โดยสามารถดูตัวอย่างได้ที่เมนู GUIDELINES
2. จะตีพิมพ์และเผยแพร่ได้ ต้องผ่านการประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิ (Peer Review)
3. การประเมินบทความโดยผู้ทรงคุณวุฒิ (Peer Review) เป็นแบบ Double Blind
4. การอ้างอิงบทความใช้หลักเกณฑ์ APA (American Psychological Association) คลิก
5. บทความถูกปฏิเสธการตีพิมพ์ ไม่ผ่านการประเมิน ผู้นิพนธ์ขอยกเลิกเองหรือชำระเงินก่อนได้รับการอนุมัติ ทางวารสารไม่มีนโยบายการคืนเงิน
References
ปาสิ ซอลห์เบิร์ก และ ทิโมธี ดี. วอล์กเกอร์ . (2565). เชื่อใจในตัวครู : กุญแจสู่การศึกษาชั้นนำฉบับฟินแลนด์.
แปลโดย ทศพล ศรีพุ่ม. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ bookscape