วรรณกวีนิพนธ์ไทย

Main Article Content

Suthas Vongkrabakthaworn

Abstract

หนังสือวิชาการวรรณกวีนิพนธ์ไทย แต่งโดยสุทัศน์ วงศ์กระบากถาวรนี้ มีความพิเศษหลายประการ ก่อนจะเข้าสู่การพินิจมองความพิเศษดังกล่าวนั้น ขอแนะนำให้รู้จักรูปลักษณ์ของหนังสือเสียก่อน


           วรรณกวีนิพนธ์ไทยเป็นหนังสือมีขนาด 16 หน้ายก หรือ 14.5 x 20.5 ซ.ม. แต่ถ้ากล่าวว่าเป็นขนาดพ็อกเก็ตบุก ก็คงเข้าใจง่ายขึ้น มีจำนวนหน้านับตั้งแต่หน้า 1 ถึงหน้าสุดท้ายคือ 344 หน้า รวมกับส่วนหน้าที่เป็นคำนิยม คำนำ และสารบัญอีก 14 หน้า เป็น 358 หน้า จัดว่าหนา แต่ก็ถือได้เหมาะมือ กระดาษที่ใช้เป็นกระดาษกรีนรีดหรือถนอมสายตา หน้าปกพิมพ์ 4 สี อันหมายถึงสีสันสวยงามตามธรรมแห่งสีนั่นเอง จัดพิมพ์โดยเดอะ บุกส์พลัส ราคา 290 บาท


           จากชื่อหนังสือวรรณกวีนิพนธ์ไทย เนื้อหาคงหนีไม่พ้นความรู้ด้านกวีนิพนธ์ของคนไทย อันสร้างสรรค์สืบทอดต่อเนื่องกันมาหลายยุคสมัยตราบถึงปัจจุบัน ผู้ที่รักและชอบแนวนี้ ก็หอมหวนยวนใจเป็นแน่แท้ ส่วนผู้ที่มิพึงใจนัก หากเปิดใจลองลิ้มชิมรสดู ก็อาจได้สัมผัสถึงความงามของสิ่งนี้ก็เป็นได้  ผู้เขียนนำเสนอเนื้อหาตั้งแต่ต้นธารไปถึงปลายธารทีเดียว คงคิดวางแผนไว้ก่อนแล้วว่า จะจัดสรรเป็น 9 บท เริ่มบทแรก กล่าวถึงความรู้ที่ควรจะรู้เกี่ยวกับกวีนิพนธ์ไทย แต่ใช้ศัพท์ให้เป็นวิชาการว่า มโนทัศน์เกี่ยวกับกวีนิพนธ์ไทย เข้าสู่บทที่ 2 เริ่มให้ความรู้เกี่ยวกับกวีนิพนธ์ที่แต่งง่าย อ่านง่าย เข้าใจง่าย และใช้กันอย่างแพร่หลายในวงวรรณคดี โดยตั้งชื่อบทสั้นๆ ว่ากาพย์ ครั้นถึงบทที่ 3 กวีนิพนธ์ที่แต่งง่าย อ่านง่าย เข้าใจง่ายกว่ากาพย์ และใช้กันอย่างแพร่หลาย ก็คงเดาได้ไม่ยากว่าเป็นกลอน ก็เป็นจริงเช่นนั้น


           เมื่อจับทางได้ว่าผู้เขียนนำเสนอเนื้อหาจากกวีนิพนธ์ที่แต่งง่าย อ่านง่าย เข้าใจง่าย และใช้อย่างแพร่หลายในวงวรรณคดีไปตามลำดับนั้น ย่อมแน่นอนว่า บทที่ 4 เป็นโคลง บทที่ 5 เป็นร่าย และบทที่ 6 เป็นฉันท์ ซึ่งก็ถูกต้องตามนี้ โดยทั่วไปก็คงจะจบแค่บทที่ 6 แต่ด้วยที่ผู้เขียนมีความรอบรู้และประสบการณ์โลดแล่นอยู่ในวงการนักประพันธ์มาหลายสิบปี ย่อมที่จะพาผู้อ่านไปลิ้มรสเนื้อหาจนถึงปลายธาร ดังนั้นในบทที่ 7 จึงกล่าวถึงกวีนิพนธ์ไร้ฉันทลักษณ์ บทที่ 8 การวิเคราะห์และประเมินค่ากวีนิพนธ์ แล้วก็ถึงปลายธารในบทที่ 9 กล่าวถึงสถานภาพกวีนิพนธ์ไทยในปัจจุบัน นับว่าอิ่มเอมสำหรับผู้อ่านที่มีใจด้านนี้


           เมื่อตอนต้น ได้กล่าวว่าหนังสือนี้มีความพิเศษ แต่จะกล่าวอีกนิดหนึ่งว่า ความพิเศษนั้นมีหลายประการ จะแจกแจงไปทีละประเด็น ดังนี้


           ผู้เขียนเป็นความพิเศษอย่างหนึ่ง เขาผู้นี้เป็นคนสองมิติ มิติแรกเป็นครูอาจารย์ เป็นนักวิชาการ เขาเล่าเรียนสาขาวิชาภาษาไทย ทั้งปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก จะกล่าวว่าเรียนด้วยความไม่รักด้านนี้ ก็กล่าวไม่ได้ เมื่อเป็นนักวิชาการและเป็นครูอาจารย์ เขาเขียนหนังสือขึ้นมาเพื่อใช้สอนให้ความรู้แก่ลูกศิษย์ เขาเขียนหลายเล่ม ไม่ว่าจะเป็นการเขียนเชิงสร้างสรรค์ วรรณกรรมนิราศ คติชนวิทยา บันเทิงคดีประเภทเรื่องสั้น จนกระทั่งถึงวรรณกวีนิพนธ์ไทยเล่มนี้ และมีงานวิจัย บทความวิชาการ รวมทั้งหนังสืออื่นอีกหลายรายการ นับว่าเขาเขียนงานวิชาการมาอย่างต่อเนื่อง และโดยธรรมชาติของการเขียนนั้น งานเล่มล่าสุดจะเป็นงานที่ดีหรือมีชั้นเชิงมากที่สุด วรรณกวีนิพนธ์ไทยก็เป็นเช่นนี้


           อีกมิติหนึ่งของเขา เขาคือทัศนาวดี เป็นนักเขียนผู้มีชื่อในวงการ แต่จะเด่นดังในงานเรื่องสั้นเป็นพิเศษ งานแนวนี้ของเขาซึ่งเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป เช่น สมภารระดับ ๘, หมู่บ้านแอโรบิค, ซ้ายขวา หน้าหลัง ถังขยะ ล้วนแต่ได้รับรางวัลทางวรรณกรรม ส่วนงานเรื่องสั้นอื่นๆ ก็มีไม่น้อย เช่น ในโลกแคบ, สัญญาหน้าเสาธง, หวังว่าประชาชนคงเข้าใจ, ฟาติมะห์ หญิงสาวผู้มองเห็นลม งานวรรณกรรมอื่นๆ เช่น กวีนิพนธ์ และสารคดี เขาก็เขียน แต่ไม่เด่นเท่าเรื่องสั้น


           ความพิเศษที่เขาเป็นนักเขียนอยู่ในตัว เขาจึงนำเสนอเนื้อหาสาระของวรรณกวีนิพนธ์ไทย โดยใช้ภาษาเรียบง่าย อ่านเข้าใจอย่างต่อเนื่อง ผู้อ่านไม่ล้มเพราะสะดุดสำนวนภาษาลีลาเขียนแน่นอน อย่างไรก็ตาม หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยกวีนิพนธ์ไทย ผู้เขียนแสดงอหังการด้านสร้างสรรค์แห่งตนไว้อย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ กำหนดตั้งประเด็นเนื้อหาให้สัมผัสคล้องจองกันเพื่อให้จดจำได้ง่าย วิธีเช่นนี้ ผู้มีฝีมือด้านการเขียนย่อมไม่ละเลย ตัวอย่างเช่น เมื่อกล่าวถึงคุณค่าของกวีนิพนธ์ เขาจะตั้งประเด็นให้คล้องจองกันไปว่า วรรณศิลป์เยี่ยม เปี่ยมความจริง อิงก่อเกื้อ เหนือเวลา ข้อแนะนำในการแต่งกาพย์ เขาตั้งว่า เรียนรู้ฉันทลักษณ์ รู้จักเล่นคำ ลึกล้ำโวหาร ข้อแนะนำในการแต่งกลอนเขาตั้งว่า เปิดเรื่องเป็น เด่นฉันทลักษณ์ ตระหนักเสียง เรียบเรียงคำ นำเพิ่มสัมผัส คัดสรรดี มีภาพพจน์ จบงดงาม ข้อแนะนำในการแต่งโคลงตั้งประเด็นว่า คำนึงเสียง เคียงสัมผัส จัดสร้อยคำ ข้อแนะนำในการแต่งร่ายตั้งประเด็นว่า เนื้อเรื่องแจ่มชัด คัดสรรกลุ่มคำ สัมผัสนอกใจ ใส่วรรณศิลป์ กินความให้ครบ จบบทตามแบบ และข้อแนะนำในการแต่งกวีนิพนธ์ไร้ฉันทลักษณ์ตั้งประเด็นว่า ฝักใฝ่ศึกษา สรรหาถ้อยคำ ลึกล้ำมุมมอง ทดลองฝึกฝน นี่แหละอหังการด้านสร้างสรรค์อย่างหนึ่งของเขา


           ความน่าแปลกใจอีกประการหนึ่งในวรรณกวีนิพนธ์ไทยนี้ คือชื่อเรื่องหนังสือ ที่มีคำว่า “วรรณ” นำหน้า “กวีนิพนธ์ไทย” เพราะหนังสือในแนวนี้โดยทั่วไปก็ใช้ชื่อว่า “กวีนิพนธ์ไทย” เป็นส่วนใหญ่ แต่เล่มนี้มีวรรณนำหน้า วรรณคือวรรณกรรม ในที่นี้คือวรรณกรรมประเภทกวีนิพนธ์โดยมิต้องตีความเป็นอย่างอื่น เมื่ออ่านเนื้อหาข้างในก็ถึงบางอ้อว่า นอกจากผู้เขียนเสนอองค์ความรู้ว่าด้วยรูปแบบและกลวิธีการแต่งกวีนิพนธ์ประเภทต่างๆ แล้ว ผู้เขียนยังพาผู้อ่านไปบรรลุหรือสัมผัสถึงวรรณกรรมกวีนิพนธ์ด้วย โดยนำเอาบทกวีนิพนธ์ของกวีที่มีชื่อเสียงและได้รับการย่อมรับ หรือเป็นบทกวีที่มีคุณค่า มากล่าววิเคราะห์วิจารณ์ให้ข้อสังเกตเชิงกวีนิพนธ์ โดยใช้คุณลักษณะความเป็นนักเขียนของตัวผู้เขียนเองเป็นฐานคิด จึงนับว่าเป็นสิ่งใหม่ในหนังสือเล่มนี้


           อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าหนังสือเล่มนี้จะดีเด่นไปหมดทุกมุมมอง จุดอ่อนก็มีเช่นกัน ตรงที่เมื่อกล่าวถึงเนื้อหาอันเป็นหลักวิชาการ ผู้เขียนใช้วิธียกคำกล่าวของนักวิชาการอื่นมากล่าวทั้งดุ้น แม้จะตัดทอนให้เหมาะสมแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่เหมาะที่จะทำเช่นนั้น ควรกล่าวด้วยสำนวนภาษาแห่งตน แต่คงเนื้อความสารเดิมเอาไว้ แล้วอ้างอิงอย่างที่ทำ จะส่งหนุนให้หนังสือเล่มนี้ดียิ่งขึ้นไปอีก


           ความพิเศษอีกประการหนึ่งของหนังสือนี้ที่จะต้องกล่าวถึงคือ หนังสือเล่มนี้เขียนโดยกวีซึ่งก็คืออาจารย์สุทัศน์ แล้วมีมหากวีแห่งยุคสมัย ช่วงส่งเสริมให้หนังสือสำแดงคุณค่าให้สูงขึ้นมาอีก คือ ไพวรินทร์ ขาวงาม ผู้เป็นกวีและศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ เขียนคำนิยมให้ แน่นอนว่าเขียนด้วยความเต็มใจ หามีใครบังคับหรือความจำเป็นใดไม่ แล้วยังมีศิวกานท์ ปทุมสูติ วาดภาพมรรดาแห่งกวีให้เป็นภาพหน้าปกด้วย ซึ่งมีความหมายและมีพลังยิ่งนัก สองปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นความรักความเอื้ออาทรที่กวีมีต่อกัน ความงามจึงบังเกิดขึ้นอย่างมลังเมลือง  

Article Details

How to Cite
Vongkrabakthaworn, S. (2022). วรรณกวีนิพนธ์ไทย. Journal of Education Rajabhat Maha Sarakham University, 19(2), 249–250. Retrieved from https://so06.tci-thaijo.org/index.php/edu-rmu/article/view/258644
Section
Book Review