วารสารสังคมมนุษย์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัย มหาสารคามฉบับนี้ มีเนื้อหาสาระส่วนใหญ่เกี่ยวกับการศึกษาประวัติศาสตร์ สังคม ภาษา วรรณกรรม ศิลปะ และวัฒนธรรมอีสาน เริ่มจากบทความเรื่อง ถอดรหัสวัฒนธรรมในภาพ ผะเหวดอีสาน จากงานวิจัยด้านคติชนวิทยาที่ศึกษาผ้าวาดภาพผะเหวดในอีสานสิบสอง ชุมชน และจากชุมชนลาวในนครเวียงจันทน์หนึ่งชุมชน ภาพวาดทุกชุดมีความหมายที่ ตีความได้หลายระดับ เป็นการถอดรหัสวัฒนธรรมสายตาที่รับรู้ และการเข้าใจในนิทาน เวสสันดรชาดก ซึ่งทำหน้าที่นิทานศักดิ์สิทธิ์ในประเพณีบุญผะเหวดของชาวอีสาน ต่อมา เป็นบทความเรื่อง กูย : ว่าด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ ภาษา และตำนาน บทความนี้นำเสนอ ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตของชาวกูย ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยและมีบทบาทอยู่ในอีสานใต้ มาเป็นระยะเวลานาน แสดงให้เห็นสภาพทางวัฒนธรรมในวิถีชีวิตดั้งเดิม และในปัจจุบันที่ กำลังเปลี่ยนแปลงเกิดการผสมผสานกับวัฒนธรรมอื่นๆ ไว้อย่างน่าสนใจ การปรับเปลี่ยน ของคนกลุ่มน้อยที่กลายเป็นคนชายขอบในสังคมใหญ่ปรากฏในบทความเรื่อง วาทกรรม ฤาษีภายใต้ยุคบริโภคนิยมในนวนิยายแนวหลังสมัยใหม่เรื่องลูกสาวฤษี เสนอว่าคนชายขอบ ในสังคมเมืองต้องปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ และวิถีปฏิบัติทางสังคม เพื่อความอยู่รอดในสังคม ยุคทุนนิยมผ่านกระบวนการประกอบสร้างความเป็นฤษี วาทกรรมฤษีจึงถูกนิยามความหมาย ในมิติที่หลากหลาย แสดงนัยยะของการวิพากษ์สังคมแบบบริโภคนิยมอีกทางหนึ่ง
บทความวิจัยจากเอกสารวรรณกรรมท้องถิ่น วรรณกรรมปัจจุบัน และนิตยสาร ลำดับแรกคือเรื่อง ความเป็นวีรบุรุษของท้าวฮุ่งหรือเจือง : มุมมองจากมหากาพย์เรื่องท้าว ฮุ่ง-ท้าวเจือง นำเสนอการสดุดีวีรกรรมของวีรกษัตริย์ลาวในสมัยโบราณ ท้าวฮุ่งหรือเจือง วีรบุรุษทางวัฒนธรรมที่ทรงมีพระปรีชาสามารถในการรบ อุดมบุญญานุภาพ ทรงมีภาวะ ผู้นำที่ยึดมั่นในหลักจารีตประเพณี และทรงเป็นที่เคารพรักยิ่ง บทความวิเคราะห์วรรณกรรม ปัจจุบันเรื่อง สัมพันธบทในกวีนิพนธ์ หัวใจห้องที่ห้า : พันธกิจกวียุคหลังสมัยใหม่ พบว่า กวีใช้สัมพันธบทเพื่อประกอบสร้างตัวบทใน 4 ลักษณะ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงตัวตน ประกอบสร้างความหมาย และสร้างความหมายใหม่ให้กับบทกวี และบทความเรื่อง ค่านิยม และความเชื่อของนักมวยไทย จากชื่อของนักมวย 800 คนที่ปรากฏในนิตยสารที่เกี่ยวข้อง กับมวยไทย พบว่านักมวยไทยมีค่านิยมในการตั้งชื่อที่มีความหมายยอดเยี่ยม และเก่งกล้า สะท้อนให้เห็นความเชื่อของนักมวยไทยว่าต้องการความเก่งกล้ามากที่สุด ก่อนที่จะเข้าสู่ การต่อสู้
นอกจากนี้ยังมีบทความวิจัยทางด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอีสาน 2 เรื่อง และบท วิจารณ์หนังสือ 1 เรื่อง บทความวิจัย ประวัติศาสตร์การขยายตัวของชุมชนในเขตเทศบาล เมืองกาฬสินธุ์ ระหว่าง พ.ศ. 2480 - 2556 นำเสนอให้เข้าใจถึงประวัติศาสตร์การก่อตั้ง เมืองกาฬสินธุ์ และการขยายตัวของชุมชนออกไปด้วยปัจจัยด้านประชากร นโยบายของ ทางราชการ สภาพทางเศรษฐกิจ ความหลากหลายของระบบนิเวศและกลุ่มชาติพันธุ์ ส่วน อีกบทความหนึ่งเป็น บทสำรวจองค์ความรู้จากงานเขียนที่เกี่ยวกับ ส.ส.อีสาน ระหว่าง พ.ศ. 2530 - 2555 พบว่ากลุ่มที่ได้รับความสนใจศึกษามากที่สุดจะเป็นกลุ่มของนายทอง อินทร์ ภูริพัฒน์ ส่วนแนวคิดที่นำมาใช้ไม่ปรากฏว่ามีการใช้แนวคิดหรือทฤษฎีใดเป็นหลัก อย่างชัดเจน แต่จะเป็นการให้คำอธิบายตามเนื้อหาของหลักฐานที่นำมาศึกษาเป็นหลัก ส่วนบทวิจารณ์หนังสือประวัติศาสตร์วิพากษ์ : สยามไทยกับปัตตานี ผู้แต่ง ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ผู้วิจารณ์ได้เสนอไว้ในท้ายบทอย่างน่าสนใจว่า ประวัติศาสตร์เหล่านี้ได้เกิดขึ้นแล้วมาหลาย ชั่วอายุคน แต่ปัจจัยอะไรที่สามารถทำให้ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งนี้ยังซ้ำรอยเดิมอยู่ใน ดินแดนภาคใต้ของไทยมาได้อย่างต่อเนื่อง
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้อ่านจะได้รับสาระความรู้จากวารสารฉบับนี้ และนำไปประยุกต์ ใช้ให้เกิดประโยชน์ในการศึกษา การวิจัย งานวิชาการ และอื่นๆ ได้ต่อไป
โสภี อุ่นทะยา
บรรณาธิการวารสารมนุษย์กับสังคม
Published: 2019-12-26