ตั้งแต่ตั้งปี พ.ศ. 2563 จนถึงกลางปี พ.ศ. 2564 ไวรัส COVID-19 ระบาดระลอกที่ 3 หนักว่าทุกครั้ง ครอบคลุมหลายพื้นที่ ทุกภูมิภาค ทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ ทุกชนชั้น และไม่มีทีท่าจะจากไปง่าย ๆ ถึงแม้จะมีวัคซีนหลากหลายยี่ห้อเข้ามาใช้ในประเทศ แต่อย่างไรก็ตามในวิกฤติที่เกิดขึ้นนี้ ชีวิตผู้คนได้ดำเนินใช้ชีวิตวิถีใหม่เต็มรูปแบบ และไม่มีวันจะกลับไปแบบเดิมได้อีก ภายใต้มาตรฐานชีวิตใหม่ที่เริ่มคุ้นเคยและมนุษย์เริ่มยอมรับพัฒนาต่อไป เฉกเช่นเดียวกับวารสารมนุษย์กับสังคมที่ต้องพัฒนาและยอมรับการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง

“วารสารมนุษย์กับสังคม” ปีที่ 6 เล่มที่ 2 ประจำปี พ.ศ. 2564 (มกราคม 64 - มิถุนายน 64) บทความที่ปรากฏในวารสารมนุษย์กับสังคมฉบับนี้ มีประเด็นศึกษาที่ครอบคลุมทั้งสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยมีทั้งเก้าบทความจากสาขาภาษาศาสตร์ หลักสูตรการสอน ประวัติศาสตร์และการพัฒนาสังคม รวมทั้งภูมิศาสตร์

วารสารฉบับนี้บทความกลุ่มแรกมุ่งเน้นเรื่องภาษา คติชน คือเรื่อง “นิ้วมหัศจรรย์กับการจัดการเรียนรู้ เรื่อง ไตรยางศ์และการผันเสียงวรรณยุกต์”  เรื่อง “ภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสื่อหนังสือพิมพ์รายวันเกาหลีใต้” เรื่อง “ตำนานพุทธประวัติพื้นบ้านกับการสร้างภูมิทัศน์วัฒนธรรมในจังหวัดบึงกาฬ” และเรื่อง “เครื่องประดับเงินชนเผ่าคะฉิ่น บ้านใหม่สามัคคี: ความสวยงามในวิถีชีวิตของคนบนพื้นที่สูง” บทความกลุ่มที่สองเรื่องหลักสูตรการสอนคือเรื่อง “การศึกษาเชิงวิพากษ์สำหรับชั้นเรียนภาษาอังกฤษในประเทศไทย” บทความกลุ่มที่สามมุ่งเน้นการพัฒนาสังคม กฎหมาย  คือเรื่อง “ความหลากหลายทางชีวภาพเชิงพื้นที่ที่มีผลต่อการสร้างความมั่นคงทางอาหารของกลุ่ม ชาติพันธุ์อาศัยในพื้นที่บริเวณที่ลุ่มแม่น้ำ ในจังหวัดจันทบุรี” เรื่อง “การสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การคุ้มครองสิทธิเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังในระบบเกษตรพันธสัญญา” และเรื่อง “ปัญหาและอุปสรรคของเจ้าหน้าที่ที่ดินในการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558” บทความกลุ่มที่สี่มุ่งเน้นเรื่องประวัติศาสตร์ คือเรื่อง “ฐานะของเมืองขุขันธ์ในประวัติศาสตร์ศรีสะเกษ ระหว่าง พ.ศ. 2306 - พ.ศ. 2481”

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ประเด็นศึกษาสาระ ความรู้ อันหลากหลายของบทความทั้งเก้าเรื่องในฉบับนี้ สะท้อนให้เห็นถึงขอบเขตด้านเนื้อหาที่ครอบคลุมทั้งสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และวารสารฉบับนี้น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างสรรค์ จุดประกายจินตนาการ และเกิดประโยชน์ต่อผู้อ่านทั้งด้านความรู้ใหม่ ระเบียบวิธีวิจัยทางมนุษยศาสตร์ และการบูรณาการศาสตร์อื่นเข้ากับการศึกษาภาษา สังคม และวัฒนธรรม

 

                                                                                                        ภาคภูมิ หรรนภา

                                                                                      บรรณาธิการวารสารมนุษย์กับสังคม

Published: 2021-06-28