บทความที่ปรากฏในวารสารมนุษย์กับสังคมฉบับนี้ มีประเด็นศึกษาที่ครอบคลุมทั้งสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยมีทั้งเก้าบทความเกี่ยวกับวรรณกรรม หลักสูตรการสอน ประวัติศาสตร์และสังคม
องค์ความรู้ในศาสตร์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการศึกษาค้นคว้าวิจัยของมนุษย์ได้นำพาเราไปสู่ความเข้าใจในปรากฏการณ์ต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ดังเช่น การศึกษาตำนานของกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะในอำเภอซีเหมิง เมืองผูเอ่อ มณฑลยูนนาน ประเทศจีน เรื่องเล่าลาวพลัดถิ่นในวรรณกรรมลาวหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือการศึกษาพัฒนาการของวรรณกรรมพุทธศาสนาในพม่าและการเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของชนชั้นนำพม่าในช่วงราชวงศ์คองบอง หรืองานด้านอุดมการณ์ความเป็นเด็กหญิงในนิทานชาดกจากพระไตรปิฎก เรื่องพระเจ้าห้าร้อยชาติ รวมทั้งวรรณกรรมเชิงนิเวศที่กำลังนิยมศึกษากันอย่าง ฮีตสิบสอง: มุมมองประเพณีเชิงนิเวศ “หุบเขาฝนโปรยไพร”: การประกอบสร้างและการนำเสนอดินแดนในอุดมคติเชิงนิเวศ และการสื่อสำนึกเชิงนิเวศในวรรณกรรม 4 เล่มของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ วารสารฯ ได้นำเสนองานทางด้านภาษาศาสตร์และการสอน เรื่องกลวิธีการเขียนและลักษณะการปรากฏอักษรย่อและคำย่อทางวงศัพท์ธุรกิจในหนังสือพิมพ์ออนไลน์เวียดนาม และการตีความวากยสัมพันธ์ของนามวลีที่ใช้กับตัวคุณานุประโยคเฉพาะเจาะจง Which และ That ในตำราอาหารภาษาอังกฤษ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการมองเห็นความสำคัญของกำลังขับเคลื่อนทางสังคม คือการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาภูมิปัญญาผ้าทอพื้นบ้านสู่นวัตกรรมชุมชน ตามแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กรณีศึกษาชุมชนชาวบรู บ้านท่าล้ง ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ประเด็นศึกษาสาระ ความรู้ อันหลากหลายของบทความทั้งเก้าเรื่องในฉบับนี้ จะสะท้อนให้เห็นถึงขอบเขตด้านเนื้อหาที่ครอบคลุมทั้งสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และวารสารฉบับนี้น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างสรรค์ จุดประกายจินตนาการ และเกิดประโยชน์ต่อผู้อ่านทั้งด้านความรู้ใหม่ ระเบียบวิธีวิจัยทางมนุษยศาสตร์ และการบูรณาการศาสตร์อื่นเข้ากับการศึกษาภาษา สังคม และวัฒนธรรม
ภาคภูมิ หรรนภา
บรรณาธิการวารสารมนุษย์กับสังคม
Published: 2023-06-29