บทบรรณาธิการ

 

มหาวิทยาลัยแต่ละยุคแต่ละสมัยมีบทบาทที่แปรเปลี่ยนไปตลอด  ความต้องการเป็นอิสระของชุมชนนักวิชาการอาจจะเป็นแรงปรารถนา (desire) ที่สร้างอุดมคติที่สำคัญให้  มหาวิทยาลัยในยุโรปที่เคยรับใช้พระผู้เป็นเจ้าหมดบทบาทค่อยๆ เปลี่ยนแปลงจากผู้รับใช้พระผู้เป็นเจ้ามาเป็นผู้รับใช้รัฐประชาชาติ  ภายใต้ระเบียบโลกเสรีนิยม (liberal world order) ที่ปฏิบัติการบนเส้นทางของเสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) ทำให้เป้าหมายของมหาวิทยาลัยต้องรับใช้คนกลุ่มใหม่  มหาวิทยาลัยต้องรับใช้ภาคธุรกิจเอกชนและตลาด  ในทศวรรษที่ 1990 มหาวิทยาลัยในฐานะการผลิตสินค้าเพื่อตลาดเป็นแนวความคิดที่ได้รับการส่งเสริมโดยธนาคารโลก  เส้นทางของการสร้างมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้เป็นของรัฐอีกต่อไปแสดงถึงวิถีปฏิบัติแบบเสรีนิยมใหม่ที่ต้องการลดบทบาทรัฐให้เหลือน้อยที่สุด  

 

การศึกษาในฐานะสินค้า (commodity) ในตลาดภาคบริการเป็นเป้าหมายสำคัญของการศึกษาระดับสูง  การศึกษาระดับสูงจะเป็นเรื่องของเอกชน ส่วนตัว ตัวเลือก มากกว่าประโยชน์สาธารณะ (public good)  ถึงแม้ว่าองค์กรระหว่างประเทศจะตอกย้ำการศึกษาเป็นเรื่องของสิทธิก็ตาม  เพียงแต่สิทธิเหล่านี้ไม่ได้ขยายไปถึงการศึกษาระดับสูง  สิทธิด้านการศึกษาดำเนินควบคู่ไปกับการสร้างความเป็นพลเมืองของรัฐประชาชาติ  ในขณะที่ตามกรอบคิดของเสรีนิยมใหม่การศึกษาระดับสูงที่ฝึกอาชีพนั้นดำเนินไปเพื่อการไต่เต้าทางชนชั้นและความก้าวหน้าในชีวิตของปัจเจกชน  เมื่อการไต่เต้าทางชนชั้นเพื่อการมีชีวิตที่ดีกว่าผ่านการศึกษาก็ทำให้การศึกษาในฐานะเครื่องมือในการเลี้ยงชีพและไต่เต้าทางชนชั้นกลายเป็นวิถีทางสำคัญที่ได้รับความนิยม   ตลาดการศึกษาที่ขยายตัวทำให้การศึกษาในฐานะอุตสาหกรรมดำเนินไปเพื่อตอบสนองตลาดของมวลชนขนาดใหญ่

 

นับตั้งแต่ยุคอาณานิคมไล่มาจนถึงระเบียบโลกเสรีนิยมสังคมแอตแลนติคเหนือ (North Atlantic Societies) เป็นศูนย์กลางของโลก  โดยในสังคมแอตแลนติคเหนือก็ยังมีลำดับชั้นและอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน เช่น สหรัฐอเมริกา สเปน เป็นต้น  ผู้คนจากดินแดนต่างๆ ในโลกต้องการแสดงตัวและเรียนรู้วิถีชีวิตตลอดจนความรู้ต่างๆ จากสังคมแอตแลนติคเหนือ   การศึกษาของสังคมแอตแลนติคเหนือกลายมาเป็นต้นแบบและศูนย์กลางอำนาจที่กำหนดระเบียบ/ชุดความรู้ของโลก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศพูดภาษาอังกฤษที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นหัวหอกสำคัญในการเผยแพร่วิถีชีวิตเสรีนิยมใหม่   โดยพลังของทุนนิยมพูดภาษาอังกฤษนั้นยังรวมดินแดนซีกโลกใต้  เช่น ออสเตรเลีย นิว ซีแลนด์ เป็นต้น เอาไว้ด้วย

 

การศึกษาในฐานะสินค้าของทุนนิยมพูดภาษาอังกฤษเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ  เพียงแต่ผู้บริโภคหรือใช้บริการสินค้าการศึกษาของทุนนิยมพูดภาษาอังกฤษนั้นกลับต้องเดินทางไปใช้บริการสินค้าทางด้านการศึกษาในสังคมเหล่านั้นเอง  การได้มีโอกาสใช้ชีวิตในต่างแดนที่ยังต้องใช้เงินในการดำรงชีพยังเปิดโอกาสให้การรับเอาวิถีชีวิต ค่านิยม ฯลฯ  ของดินแดนนั้นๆ เป็นไปได้ง่ายมากขึ้น  นักศึกษาต่างชาติเป็นแหล่งเงินสำคัญในการนำเงินตราต่างประเทศเข้าประเทศ 

 

เมื่อมหาวิทยาลัยเป็นองค์กรทางธุรกิจก็หมายความว่าการบริหารงานแบบรัฐจึงเป็นวิถีทางที่ใช้ไม่ได้อีกต่อไป  ในมหาวิทยาลัยการบริหารแบบภาคเอกชนจำเป็นต้องเข้ามาแทนที่  วัฒนธรรมองค์กรมหาวิทยาลัยต้องดำเนินการไปในแบบบริษัทเอกชนที่ต้องการการควบคุมดูแลการผลิต  การควบคุมดูแลตรวจสอบแบบเอกชนและการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ทางการศึกษากลายเป็นสิ่งสำคัญ   มหาวิทยาลัยที่ทันสมัยจึงอยู่ที่การเปลี่ยนให้มีความเป็นองค์กรธุรกิจ 

 

องค์กรธุรกิจที่อยู่ในตลาดนั้นต้องมีจิตวิญญาณของการแข่งขัน  เมื่อมหาวิทยาลัยต้องเข้ามาในตลาดที่มีการแข่งขันก็ทำให้การจัดอันดับ (ranking) เป็นการประเมินค่าผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ  ด้วยการจัดอันดับสินค้าอย่างมหาวิทยาลัยผู้บริโภคจะได้รู้ว่าตัวเองนั้นเหมาะสมที่จะบริโภคสินค้าระดับใด  โดยลูกค้าที่สนใจอันดับมหาวิทยาลัยเหล่านี้ส่วนมากก็จะเป็นลูกค้าต่างชาติที่ห่างไกลออกไป  ลูกค้าต่างชาติที่มักจะไม่มีความรู้ว่าสินค้าตัวไหนในต่างแดนมีคุณภาพนั้นจึงต้องการการคำแนะนำ  โดยในท้ายที่สุดลูกค้าที่มาจากต่างแดนเหล่านี้ก็พร้อมที่จะเข้าร่วมกลุ่มชนชั้นนำระดับโลกหลังจากผ่านการศึกษามหาวิทยาลัยระดับโลก  การอพยพย้ายถิ่นของผู้มีความรู้ความสามารถระดับโลกไปยังดินแดนที่มั่งคั่งจึงเป็นเส้นทางสำคัญ

 

ในสหรัฐอเมริกาการจัดอันดับมหาวิทยาลัยขยายตัวอย่างมากในต้นทศวรรษที่ 1980  เพียงการจัดอันดับยังเป็นเรื่องภายในประเทศ  แต่เมื่อการศึกษาเป็นสินค้าสำคัญสำหรับเศรษฐกิจภาคบริการในโลก  การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกเป็นกลไกในการเสริมสร้างการแข่งขัน  โดยหน่วยงานสำหรับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยก็มีอยู่อย่างหลากหลาย เช่น Academic Ranking of World Universities  (Shanghai Jiao Tong University Ranking) The Time Higher Education World University (THE) Quacquarelli Synmonds (QS) เป็นต้น  โดยการจัดอันดับของ The Time Higher Education World University เริ่มต้นในปี ค.ศ. 2004

 

การจัดอันดับมหาวิทยาลัยถึงแม้ว่าจะเป็นการตอกย้ำความไม่เท่าเทียมกันในระดับโลก  แต่การจัดอันดับที่บ่งบอกความไม่เท่าเทียมกันทำให้ผลักดันที่ทำให้มหาวิทยาลัยในอันดับรองๆ ต้องการจะทะยานขึ้นมา  การจัดอันดับทำให้ภาพการแข่งขันชัดเจน  ใครอยู่ในอันดับใด?  ใครเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ?  เพียงแต่ยามเฝ้าประตู (gatekeeper) ของการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำก็มักจะเป็นผู้วางกฎระเบียบว่าใครจะเข้าใครจะออก  การจะรักษาอันดับของมหาวิทยาลัยไว้นั้นต้องการเงินมหาศาล  การจะเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกได้ต้องการเงินมากกว่า 2-3 พันล้านดอลล่าร์  โดยยังไม่ต้องพิจารณากองทุน (endowment) ที่มหาวิทยาลัยมี   ความมั่งคั่งของมหาวิทยาลัย (ทั้งแบบที่เป็นทุนเดิมและทุนใหม่) ในมิติต่างๆ ทำให้การรักษาสถานะของความเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกเป็นเรื่องปกติ  สำหรับพวกอยู่อันดับรองๆ ก็ทำให้ได้ด้วยการรักษาสถานะให้ไม่ต้องตกต่ำไปกว่านี้ก็พอ

 

ธเนศ วงศ์ยานนาวา

หมายเหตุ: สำหรับผู้ที่สนใจบทความฉบับเต็มสามารถติดต่อสั่งซื้อได้ที่สายส่งเคล็ดไทย 

เผยแพร่แล้ว: 2022-12-19