การล้มล้างรัฐธรรมนูญเผด็จการทหารที่เป็นมรดกตกทอดของ Augusto Pinochet ไม่ประสบความสำเร็จในชิลี  หนทางของกระแสหลังเสรีนิยมใหม่ (Post-Neoliberalism) หรือ “กระแสคลื่นสีชมพู” (pink tide) สั่นคลอน  ถึงแม้ว่าอดีตผู้นำแรงงานขวัญใจของผู้คนจำนวนหนึ่งของบราซิลจะได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีในครึ่งหลังของปี ค.ศ. 2022  แต่นักการเมืองที่ต่อต้านเสรีนิยมใหม่ในลาตินอเมริกาไม่ได้มีแค่ที่เดียว

สำหรับบราซิลแนวทางของประธานาธิบดีขวัญใจผู้ใช้แรงงานกลับไม่ได้มีความชัดเจนด้านนโยบายเศรษฐกิจ  ภาพลักษณ์ที่ทรงพลังเปรียบประหนึ่งดาราในระดับนานาชาตินั้นไม่จำเป็นที่จะต้องสอดคล้องกับภาพภายใน   ถึงแม้ว่าประธานาธิบดีบราซิลผู้นี้มีจุดยืนชัดเจนในปัญหาความขัดแย้งในยุโรปตะวันออก  เส้นทางแบบอเมริกาแบบที่รับรู้กันผ่านสื่อต่างๆ ในโลกไม่ใช่จุดยืน  แต่บราซิลก็ใหญ่เกินไปกว่าที่ใครจะต่อต้านได้ง่ายๆ  ความหวังของการเข้าไปมีบทบาทในคณะมนตรีความมั่นคงเป็นหนึ่งในเป้าหมายเฉกเช่นเดียวกันกับประเทศอื่นๆ ที่มีแรงปรารถนาแบบเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี ญี่ปุ่น หรืออินเดีย   

สำหรับผู้ต่อต้านรัฐธรรมนูญฉบับก้าวหน้าของชิลีที่มีผู้คนสารพัดเข้ามามีส่วนร่วมในการร่างนั้นบางคนเห็นว่ารัฐธรรนูญฉบับนี้เป็น “คอมมิวนิสต์”  โดยคนที่ต่อต้านไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่ภายใต้กระบอกเสียงจาก “วิทยุเสียงประชาชน”  สำหรับผู้คนที่เกิดตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 อาจจะต้องสงสัยว่า นี่กำลังพูดถึงอะไรอยู่?  เพราะในระเบียบโลกเสรีนิยม (liberal international order) ที่อยู่ใต้การนำของสหรัฐอเมริกาคำๆ นี้ได้กลายเป็น “ไดโนเสาร์เต่าล้านปี” ไปแล้ว  หลายๆ คนก็อาจจะสงสัยได้อีกเช่นกันว่าอะไรคือ “ไดโนเสาร์เต่าล้านปี”

สำหรับในเอเชียตะวันออก “กระแสคลื่นสีชมพู” ที่ต่อต้านเสรีนิยมใหม่ในหมู่นักการเมืองนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ  ถึงแม้ว่าช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนจะขยายตัวอย่างมาก  พร้อมๆ กันกับการถดถอยของสาธารณะประโยชน์ต่างๆ ที่อยู่ในมือของทุนเอกชน  ภายใต้ความสำเร็จของการพัฒนาเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกทำให้เส้นทางของเสรีนิยมใหม่ภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกาผ่านกลไกและสถาบันต่างๆ ประสบความสำเร็จ  จากมิติทางเศรษฐกิจไปจนถึงมิติทางวัฒนธรรม 

สำหรับหลายต่อหลายคนการเดินตามสหรัฐอเมริกาและเสรีนิยมใหม่บ่งบอกถึงความปลอดภัยและสามารถนำไปสู่ความสำเร็จ  หนทาง “ความฝันอเมริกัน” (American dream) ขยายตัวไปทั่วจากเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือมาจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  “ความฝันอเมริกัน” ที่ไม่ได้จำกัดเพศ จำกัดวัย จำกัดสีผิว คือเส้นทางใหม่ของศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด  จาก Frederick Terman หรือ “บิดาแห่งซิลิค่อนแวลเล่ย์”  กับผลงานของ USAID กับการก่อตั้ง KAIST (Korea Advanced Institute of Science and Technology) จนถึงการขยายตัวของคริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแต้นต์ (ตลอดระยะเวลาร้อยกว่าปีที่ผ่านมา)  ถึงแม้ว่าปริมาณของคนหนุ่มสาวที่ยึดมั่นในศาสนาจะลดลง  ไล่ไปจนถึงความสำเร็จในวงการบันเทิงบนชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา  ฯลฯ พิสูจน์ให้เห็นว่าการเดินตามเส้นทางเสรีนิยมอเมริกันผลลัพธ์เป็นอย่างไร

 

ธเนศ วงศ์ยานนาวา

หมายเหตุ: สำหรับผู้ที่สนใจบทความฉบับเต็มสามารถติดต่อสั่งซื้อได้ที่สายส่งเคล็ดไทย 

เผยแพร่แล้ว: 2023-03-30