ศึกษาความเชื่อเกี่ยวกับท้าวเวสสุวัณ(ยักษ์)ในพุทธศาสนาเถรวาท
คำสำคัญ:
ท้าวเวสสุวรรณ, ยักษ์, กความเชื่อบทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นมาของยักษ์ที่ปรากฏในพระพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อศึกษาความเชื่อเกี่ยวกับยักษ์ในสังคมไทยและเพื่อศึกษาอิทธิพลของยักษ์ที่มีในสังคมไทย
ผลการศึกษาพบว่า
ยักษ์จัดเป็นอมนุษย์จำพวกหนึ่งที่มีเรื่องราวปรากฏในพระไตรปิฎกและอรรถกถา มีทั้งยักษ์ดี ยักษ์ร้าย เพราะยักษ์มีหลายประเภท เช่นยักษ์เสนาบดี ยักษ์บริวารรับใช้ท้าวเวสสุวัณเป็นต้น ยักษ์เหล่านี้ได้ทำกุศลกรรมและอกุศลกรรม เป็นเหตุให้เกิดมาเป็นยักษ์แตกต่างกันยักษ์จัดอยู่ในประเภทโอปปาติกะ คือ พวกที่เกิดมาแล้วมีร่างกายเติบโตทันที ในตอนเกิดไม่ต้องอาศัยอะไรทั้งหมด อาศัยแต่เพียงกรรมเก่าอย่างเดียว ถ้าหากได้ทำกรรมดีมาก่อนก็จะเกิดในกำเนิดของยักษ์ที่เป็นเทวดา ในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ถ้าหากทำกรรมชั่วจะเกิดในกำเนิดของยักษ์ดิรัจฉาน ยักษ์มิได้อยู่ตนเดียวเสมอ มีการรวมกลุ่มกัน หรือจัดแบ่งเป็นพวกตามลักษณะทางสังคมของยักษ์ยักษ์ทุกตนมีหน้าที่เป็นบริวารของท้าวเวสสุวัณ ซึ่งเป็นหนึ่งในจตุโลกบาลผู้รับผิดชอบดูแลทุกข์สุขของมนุษย์และเทวดาในทิศเหนือ
คนไทยทั่วไปได้รู้จักยักษ์ ในบทเรียนวรรณคดีไทยเรื่องรามเกียรติ์ โดยเฉพาะตัวทศกัณฐ์ ซึ่งสวมบทบาทของฝ่ายอธรรมเข้าต่อกรกับกองทัพฝ่ายธรรมะของพระรามและพระลักษณ์ นอกจากยักษ์จะอยู่ในวรรณคดีไทยแล้ว ยังมีบทบาททางความเชื่อของคนไทยมาตั้งแต่อยุธยา ในเรื่องของผู้พิทักษ์รักษาความดีและปกป้องความชั่วร้ายไม่ให้ย่างกรายเข้ามาใกล้ กระทั่งมีการสร้างรูปหล่อของยักษ์ไว้หน้าทางเข้าพระอุโบสถของวัด ปัจจุบัน ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ร้อยรัดความเชื่อ และความเกี่ยวข้องของยักษ์กับพุทธศาสนา ทั้งทางด้านพิธีกรรม และด้านศาสนวัตถุต่างๆ ที่ปรากฏให้เห็นในสถาบันชั้นสูง และโบสถ์ วิหารในพระพุทธศาสนา
อิทธิพลความเชื่อเกี่ยวกับยักษ์ที่ปรากฏในสังคมไทยผ่านงานทางสถาปัตยกรรม สถูป เจดีย์ โบสถ์ สีมา หอไตร ตามผนัง ก็ยังคงมีให้เห็นและศึกษาตามแหล่งโบราณหรือตามสาสนสถานต่างๆ ในประเทศไทยและยังมียักษ์ในศิลปกรรมไทยด้านประติมากรรมต่างอีกด้วย สถูปประดับด้วยรูปยักษ์ในศิลปกรรมตลอดจนการปั้นรูปยักษ์ เรื่องราวตามพุทธประวัติ ย่อมแสดงให้เห็นคติความเชื่อสะท้อนผ่านงานสถาปัตยกรรมในสังคมไทยปัจจุบัน
References
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.
ประเสริฐ ศีลรัตนา.จิตรกรรม.กรุงเทพมหานคร : โอเดียนสโตส์, ๒๕๒๘.
ราชบัณฑิตยสถาน.พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕.กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์อักษรเจริญทัศน์, ๒๕๓๐.
สุจิตต์ วงษ์เทศ.ยักษ์ในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์.กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มติชน,๒๕๔๓.
พระมหาประภาส แก้วสวรรค์.ยักษ์ในพระไตรปิฎก.วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต.บัณฑิตวิทยาลัย : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๐.