ศึกษาความเชื่อเรื่องเปรตที่ปรากฏในประเพณีแซนโฎนตาของจังหวัดบุรีรัมย์
บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์เล่มนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญอยู่ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาเปรตที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาประเพณีแซนโฎนตาของจังหวัดบุรีรัมย์ และ ๓) เพื่อศึกษาความเชื่อเรื่องเปรตที่ปรากฏในประเพณีแซนโฎนตาของจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งผลการศึกษาพบว่า
เปรตที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา พบว่า เปรตมีความหมาย ๒ ด้าน คือ ผู้ล่วงลับไปแล้วสู่ปรโลกและผู้ตาย ยืนยันว่าเปรตนั้นมีอยู่จริง ส่วนในทัศนะของนักปราชญ์ต่างๆ ได้ให้ความหมายที่หลากหลายออกไปสรุปได้ว่า เปรต คือผู้ล่วงลับไปแล้วสู่ปรโลก และหมายถึงคนตายหากพิจารณาในแง่ของบุพกรรมของเปรต จะเห็นว่า เกิดจากการกระทำกรรมชั่วทางกายเรียกกายทุจริต การกระทำทางวาจาเรียกว่า วจีทุจริต และการกระทำทางใจ เรียกว่า มโนทุจริต เปรตนั้นมีหลายประเภทแล้วแต่บาปกรรมที่ตนเองเคยกระทำมาในอดีตชาติตอนที่เกิดเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะกรรมชั่วที่หนักหรือกรรมชั่วที่เบาเมื่อละจากโลกนี้ไปแล้วย่อมเข้าไปสู่โลกของเปรตได้ กรรมที่ทำให้เกิดเป็นเปรต สำหรับภูมิเปรตนั้น ที่ปรากฏอยู่ในพระสูตร อรรถกถาและคัมภีร์ต่างๆ ได้จำแนกประเภทของเปรตออกเป็น ๓๗ ประเภท แต่มีเปรตจำพวกเดียวเท่านั้นที่สามารถรับส่วนบุญจากญาติได้ ด้วยการอนุโมทนาในส่วนบุญนั้น คือ ปรัตทัตตูปชีวีตเปรต
ประเพณีแซนโฎนตาของจังหวัดบุรีรัมย์ พบว่า ประเพณีแซนโฎนตา เป็นประเพณีหนึ่งที่มีความสำคัญและปฏิบัติสืบทอดติดต่อกันมายาวนานของชาวจังหวัดบุรีรัมย์ ที่แสดงออกถึงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ สะท้อนให้เห็นความรัก ความเมตตา ความกรุณา ความผูกพัน ของสมาชิกในครอบครัว เครือญาติ และชุมชนแต่ละท้องถิ่น โดยจะประกอบพิธีกรรมตรงกับวันแรม ๑๔ ค่ำเดือน ๑๐ ของทุกปี เมื่อถึงวันแรม ๑๔ ค่ำเดือน ๑๐ ลูกหลาน ญาติพี่น้องที่ไปประกอบอาชีพการงานที่อื่นหรือไปตั้งถิ่นฐานในแดนใดตำบลไหนไม่ว่าใกล้หรือไกล ก็จะเดินทางมารวมญาติกัน เพื่อจะทำพิธีแซนโฎนตา พิธีกรรมเกี่ยวกับประเพณีแซนโฎนตา เป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งที่ช่วยให้พุทธศาสนิกชนได้ทำบุญถวายทาน และเป็นการขัดเกลาความตระหนี่ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งมอบเสบียงเดินทางให้กับผีบรรพบุรุษนำไปใช้ในเวลาเดินทางกลับไปสู่ภูมิของตน ชาวไทยเขมรจะต้องมี การเซ่นไหว้บอกกล่าวผีบรรพบุรุษเสมอ ด้านคติความเชื่อชาวไทยเขมร มีความเชื่อในเรื่องผีบรรพบุรุษ (โฎนตา) ชาวบ้านเชื่อว่าผีโฎนตาเป็นผู้มีอำนาจให้คุณให้โทษแก่ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ ถ้าใครไม่ปฏิบัติตามประเพณีและพิธีกรรมแซนโฎนตา (สารทเดือนสิบ) ก็จะถูกสังคมลงโทษกล่าวหาว่าเป็นคนอกตัญญู และเชื่อว่าคนที่อกตัญญูจะประสบแต่ความล้มเหลวในชีวิตหาความสุขความเจริญไม่ได้ ความเชื่อดังกล่าวซึ่งมีการเซ่นสรวงบูชา เพื่อให้บรรพบุรุษพอใจ ท่านก็จะคอยคุ้มครองอวยชัย ให้พร ให้ลูกหลานประสบผลสำเร็จในชีวิตมีความสุขความเจริญ และนอกจากนี้ยังเชื่อว่าผีโฎนตานั้นจะดลบันดาล ให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล เพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ทางเกษตรกรรมด้วย ชาวไทยเขมร ได้อาศัยความเชื่อในการนับถือผีบรรพบุรุษเดียวกัน เป็นเครื่องมือในการควบคุมพฤติกรรมของคนในชุมชน ทำให้เป็นคน มีระเบียบวินัย มีศีลธรรม ก่อให้เกิดความรักความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันสืบไป
ความเชื่อเรื่องเปรตที่ปรากฏในประเพณีแซนโฎนตาของจังหวัดบุรีรัมย์ พบว่า ความเชื่อเรื่องเปรตที่ปรากฏในประเพณีแซนโฎนตานั้น เปรตนี้มีผลเกิดขึ้นจากประเพณี ผลจากการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่เปตชนหรือผู้ที่ล่วงลับไปแล้วนั้น เป็นคติธรรมความเชื่อที่เชื่อมโยงกับหลักธรรมในทางศาสนา เพื่อเป็นการอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ล่วงลับ เป็นการสงเคราะห์อนุเคราะห์แก่ญาติผู้วายชนม์ให้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เป็นการแสดงออกถึงน้ำใจที่ดีงาม การแสดงออกถึงน้ำใจต่อกัน มี ๓ ยาม คือ ยามจนยามเจ็บ และยามจาก คติธรรมอันนี้ในทางศาสนามีตัวอย่างเกี่ยวกับการทำบุญให้ผู้ตายนี้ จึงเป็นประเพณีทำบุญให้แก่ผู้ตายตลอดมาจนบัดนี้
References
คณะกรรมการกองตำรา มหามกุฎราชวิทยาลัย,ผู้แปล. พระธัมมปทัฏฐกถาแปล ภาค ๖. พิมพ์ครั้งที่
๑๖. กรุงเทพมหานคร : มหามกุฎราชวิทยาลัย,๒๕๕๔.
พระเทพดิลก (ระแบบ ฐิตญาโณ). ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา. พิมพ์ครั้งที่ ๔.กรุงเทพมหานคร
: มหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๔๘.
ฟื้น ดอกบัว. ศาสนาเปรียบเทียบ. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพมหานคร : โสภณการพิมพ์, ๒๕๔๙.