ศึกษาหลักการและวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระเทพวรมุนี (วิบูลย์ กลฺยาโณ)

ผู้แต่ง

  • พระปลัดพงศ์พิสิฏฐ์ กิตฺติธโร

คำสำคัญ:

พระพุทธศาสนา

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เรื่อง “ศึกษาหลักการและวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระเทพวรมุนี (วิบูลย์   กลฺยาโณ)” มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาหลักการและวิธีการเผยแผ่ในพระพุทธศาสนาเถรวาท, ๒) เพื่อศึกษาหลักการและวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระเทพวรมุนี (วิบูลย์ กลฺยาโณ), ๓) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของประชาชนที่มีต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระเทพวรมุนี (วิบูลย์ กลฺยาโณ)

ผลจากการศึกษาวิจัยพบว่าหลักการและวิธีการเผยแผ่ในพระพุทธศาสนาเถรวาท คือ หลักการและวิธีการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธเจ้า ได้แก่ การมีจุดมุ่งหมายในการสอน มีหลักการสอน มีลีลาในการสอน รูปแบบการสอน ตลอดจนวิธีการสอนแบบต่างๆ เช่น การสนทนาธรรม เป็นต้น การสอนของพระพุทธเจ้าในแต่ละครั้ง จะมีคุณลักษณะซึ่งเรียกได้ว่า เป็นลีลาการสอน ๔ รูปแบบ คือ สันทัสสนา สมาทปนา สัมปหังสนา และ สมุตเตชนา วิธีการสอนเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้ง ๔ ประการ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เพื่อปลดเปลื้องความเขลาหรือความมืดมัว เพื่อปลดเปลื้องความประมาท เพื่อปลดเปลื้องความเกียจคร้าน และเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการปฏิบัติ การเผยแผ่ธรรมในแต่ละครั้ง ต้องประกอบไปด้วยวิธีการทั้ง ๔ ประการ ดังกล่าวมานี้ คือ ชี้ให้ชัด  ชวนให้ปฏิบัติ  เร้าใจให้แกล้วกล้า  ปลุกให้ร่าเริง หรือ แจ่มแจ้ง จูงใจ แกล้วกล้า ร่าเริง   เป็นต้น

หลักการและวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระเทพวรมุนี (วิบูลย์  กลฺยาโณ) คือ รูปแบบการนำเสนอของท่านจะเน้นเพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ เป็นเรื่องง่าย ๆ ใกล้ตัว และตรงประเด็น ตามสถานการณ์ปัจจุบัน เศรษฐกิจ การเมือง สังคม โดยการนำเสนอในแต่ละครั้งท่านจะมีการเลือกรูปแบบและวิธีการให้เหมาะสมทั้งต่อตนเอง และต่อผู้รับฟัง คือ เลือกรูปแบบที่ตนถนัด และให้มีความเหมาะสมกับผู้ฟัง เพื่อให้การเผยแผ่มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ชวนให้ผู้ฟังเกิดอารมณ์คล้อยตามที่จะฟังเป็นอย่างดี และสามารถนำธรรมะที่ได้รับไปปฏิบัติให้เกิดผลจริงในชีวิตประจำวัน นำไปปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับตนเอง และสังคมส่วนรวม โดยรูปแบบและวิธีการเผยแผ่ธรรมะของท่านจะยึดถือแบบอย่างตามแนวทางการเผยแผ่ของพระพุทธเจ้าและพระสาวก โดยท่านนำเอาวิธีการเหล่านี้ มาประยุกต์ใช้ในการเผยแผ่ธรรมะให้เหมาะสมกับสภาพสังคม จนได้สมญานามจากหมู่สงฆ์ภาคอีสานว่า “ปราชญ์แห่งอีสานใต้”

วิธีการถ่ายทอดหลักธรรมของพระเทพวรมุนีในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา มีความชำนาญและความสามารถในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งนับเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งในการสร้างศรัทธาให้เกิดแก่ผู้ฟังที่ได้พบและได้เห็น และท่านเป็นผู้ที่สังคมยอมรับว่า เป็นผู้มีความรู้ สมเป็นปราชญ์แห่งอีสานใต้ ความสามารถความเสียสละ และอดทนเพื่อพระพุทธศาสนามาโดยตลอด

References

บรรณานุกรม

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.
ชูศักดิ์ ทิพย์เกสรและคณะ. พระพุทธเจ้าสอนอะไร. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราช
วิทยาลัย,๒๕๔๐.
พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). พุทธศาสนาในเอเชีย. กรุงเทพมหานคร : ธรรมสภา, ๒๕๒๐.
ราชบัณฑิตสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕. พิมพ์ครั้งที่ ๕.
กรุงเทพมหานคร : เจริญทัศน์จำกัด, ๒๕๔๖.
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์(พิมพ์ ธมฺมธโร). สากลศาสนา. กรุงเทพมหานคร : สภาการศึกษามหามกุฏราช
วิทยาลัย, ๒๕๓๑.
สัมภาษณ์ พระครูวิธานมงคลกิจ, พระสงฆ์วัดเจียงอีศรีมงคลวราราม, ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗.
สัมภาษณ์ พระครูสันติธรรมานุวัตร,รองเจ้าคณะอำเภอเมืองศรีสะเกษ, ๒ เมษายน ๒๕๕๗.
สัมภาษณ์ พระครูสมุห์สุทัศน์ ชยาภินนฺโท,ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเจียงอีศรีมงคลวราราม, ๒ เมษายน
๒๕๕๗.
สัมภาษณ์ พระราชกิตติรังษี,เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ, ๒ เมษายน ๒๕๕๗.
สัมภาษณ์ พระราชธรรมสารสุธี, รองเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ, ๒ เมษายน ๒๕๕๗.
สัมภาษณ์ พระครูศรีปริยัติวงศ์, เจ้าคณะอำเภอห้วยทับทัน, ๒ เมษายน ๒๕๕๗.
สัมภาษณ์พระอธิการบุญบันดาล สุปญฺโญ,เจ้าอาวาสวัดเทพปราสาท (สระกำแพงน้อย), ๒ เมษายน
๒๕๕๗.
สัมภาษณ์ นายพีรพัฒน์ แก้วแสน,ครูโรงเรียนศรีเกษตรวิทยา, ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๗.
สัมภาษณ์ นายพฤทชาต สารพล,ครูโรงเรียนศรีเกษตรวิทยา, ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๗.
สัมภาษณ์ นายดำรง อุ่นแก้ว, ครูโรงเรียนพรานวิบูลวิทยา, ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๗.
สัมภาษณ์ กนก โตสุรัตน์,ผศ., ที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ, ๓๐ ตุลาคม
๒๕๕๗.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-03-03