การศึกษาคติธรรมที่ปรากฏในการทำบุญวันเกิด ตามหลักพระพุทธศาสนา

ผู้แต่ง

  • พระครูพิมลกัลยาณธรรม กลฺยาโณ

คำสำคัญ:

คติธรรมทางพระพุทธศาสนา, วันเกิด

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑) เพื่อศึกษาหลักการทำบุญในพระพุทธศาสนา  ๒)เพื่อศึกษาการเกิดและการทำบุญวันเกิดตามหลักพุทธศาสนา ๓) เพื่อศึกษาคติธรรมที่ปรากฏในการทำบุญวันเกิดตามหลักพระพุทธศาสนาผลการศึกษาพบว่า

          คำว่าบุญในพระพุทธศาสนานั้นมีความสัมพันธ์กับจิต เพราะการที่เราจะรู้ว่าอะไรเป็นบุญหรือเป็นบาปนั้น เราต้องรู้หรือพิจารณาให้รู้ถึงสภาพของจิตหรือรู้จักจิตเสียก่อน เพราะบุญหรือบาปเป็นลักษณะหรือคุณภาพของจิต ในพระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงบุญทั้งในแง่ของการกระทำและผลของการกระทำด้วย บุญเป็นชื่อของความสุข บุญก็หมายถึงผลหรือวิบากที่น่าปรารถนาของกุศลกรรมคือการทำความดี วิธีการทำบุญนั้นพระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้เป็น ๒ นัยคือ บุญกิริยาวัตถุ ๓ และบุญกิริยาวัตถุ ๑๐การทำบุญที่กล่าวมานี้ มีความมุ่งหมายเพื่อที่จะให้การกระทำนั้นเป็นเครื่องฟอกใจให้บริสุทธิ์ สะอาดปราศจากกิเลส สิ่งที่ผู้ทำบุญจะได้รับก็คือความบริสุทธิ์สะอาดนั่นเอง ซึ่งในทางพระพุทธศาสนาเรียกความสะอาดบริสุทธิ์แห่งจิตนั้นว่า บุญ ในการที่จะทำให้เกิดบุญขึ้นมาได้นั้น ตามหลักบุญกิริยาวัตถุ ท่านกล่าวถึงหลักทานมัยคือบุญสำเร็จด้วยการให้ทาน ศีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล และภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา

          พระพุทธศาสนาถือว่าการเกิดเป็นกระบวนการทางธรรมชาติ มนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างมาโดยพระเจ้า แต่มนุษย์ถูกสร้างโดยกฎของธรรมชาติ ซึ่งในพระพุทธศาสนาเรียกว่ากฎอิทัปปัจจยตา คําว่า“เกิด” หรือ“การเกิด” การทําบุญในวันแรกเกิดหรือก่อนการเกิดเป็นประเพณีที่มีการกระทํากันมาก่อนที่พระพุทธศาสนาได้เกิดขึ้น  แต่เป็นประเพณีที่ผู้ทํานั้นมุ่งเพื่อเป็นการ ๑) เฉลิมฉลองบุตรธิดาที่จะเกิด ๒) รับขวัญบุตรธิดาที่เกิดมาแล้ว โดยมูลเหตุการณ์ทําบุญวันเกิดมีผลมาจาก (๑) ความฝันของมารดาฝันเกี่ยวกับบุตร  ฝ่ายสามีหรือพระราชาหากพึงใจจะจัดงานเลี้ยงทําบุญได้ (๒) อาการแพ้ท้องของผู้เป็นมารดาที่ปรารถนาจะทําบุญ มูลเหตุของการทําบุญวันเกิดหรือวันก่อนเกิดเช่นนี้เป็นประเพณีที่เกิดขึ้นก่อนสมัยพุทธกาลแต่เมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นรูปแบบนี้ค่อนข้างมีความชัดเจนมากขึ้น และกลายเป็นประเพณีวันเกิดแบบพุทธอย่างแท้จริง คือการทําบุญเนื่องในวันเกิดและวันก่อนที่จะเกิด

          คติธรรมจากการทําบุญวันเกิดเป็นการให้คุณค่าในเรื่องของการทําบุญที่ก่อให้เกิดคุณความดีกับผู้ที่เป็นเจ้าภาพและเป็นการกระทําเพื่อให้เด็กได้มีโอกาสซึมซับในการทําบุญหรือความดีในพระพุทธศาสนา สังคมไทยเห็นว่าการเกิดเป็นเรื่องที่ดีและเป็นมงคล

References

บรรณานุกรม

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.
พระราชวรมุนี. (ประยุทธ์ ปยุตฺโต).พุทธธรรม,(ฉบับปรับปรุงและขยายความ).พิมพ์ครั้งที่ ๓.กรุงเทพมหานคร:มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๒๙.
ป. หลงสมบุญ.(นามแฝง).พจนานุกรม มคธ-ไทย.กรุงเทพมหานคร: อาทรการพิมพ์, ๒๕๔๐.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-03-03