ศึกษาคติธรรมทางพระพุทธศาสนาในประเพณีบุญเบิกฟ้า (แซนตา จ๊ะเซราะ) ของประชาชน ตำบลไพศาล อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์

ผู้แต่ง

  • พระครูไพศาลชัยกิจ เอกวณฺโณ

คำสำคัญ:

ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓, บุญเบิกฟ้า

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาเพื่อ ๑)ศึกษาที่มาของประเพณีบุญเบิกฟ้า (แซนตา จ๊ะเซราะ)๒) ศึกษาความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับประเพณีบุญเบิกฟ้า (แซนตา จ๊ะเซราะ) ของประชาชนในตำบลไพศาล อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ๓) วิเคราะห์ประเพณีการทำบุญเบิกฟ้า(แซนตา จ๊ะเซราะ) ของประชาชนตำบลไพศาล อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์

               ผลการศึกษาพบว่า

               การประกอบพิธีกรรมบุญเบิกฟ้า (แซนตา จ๊ะเซราะ) เป็นการประกอบพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ที่ชาวนา ชาวไร่ ในภาคอีสานเคยปฏิบัติกันมาในวันขึ้น ๓ ค่ำเดือน ๓ เป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้เกิดขึ้นแก่เกษตรกร ภายใต้คติความเชื่อดั้งเดิมที่ว่าเมื่อถึงช่วงเวลาวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ของทุก ๆ ปี  ฟ้าจะเริ่มไขประตูฝน โดยจะมีเสียงฟ้าร้อง และทิศที่ฟ้าร้องเป็นสัญญาณบ่งบอกตัวกำหนดปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมาหล่อเลี้ยงการเกษตรในปีนั้น ๆ

               ชาวตำบลไพศาล ซึ่งประชาชนส่วนมากมีอาชีพทำการเกษตรมีความเชื่อเกี่ยวกับวันขึ้น ๓ ค่ำเดือน ๓ ว่าเป็นวันที่ฟ้าจะไขประตูน้ำฝน  จึงมีประเพณีบุญเบิกฟ้า (แซนตา จ๊ะเซราะ) เพื่อขอพรจากพญาแถน (เทพผู้เป็นใหญ่) ให้ไขประตูฟ้าทางทิศที่เป็นมงคลพิธีกรรมที่ประชาชนในตำบลไพศาลทำขึ้นในวันขึ้น ๓ ค่ำเดือน ๓ นั้นประกอบด้วย ๑) พิธีสู่ขวัญข้าว เพื่อแสดงความกตัญญูต่อพระแม่โพสพเพื่อความสบายใจในการซื้อขายข้าว และเพื่อให้การแบ่งปันข้าวแก่ญาติมิตรผู้มาร่วมพิธี ๒) พิธีหาบปุ๋ยเพื่อบำรุงดิน ในตอนเช้ามืดของวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ชาวนาจะต้องหาบปุ๋ยคอกจากกองมูลวัว มูลควาย ซึ่งมักอยู่ใต้ถุนเรือนของตน ทยอยออกไปใส่ผืนนา จนกระทั่งถึงเที่ยงวันจึงหยุด เป็นการเริ่มต้นเอาฝุ่น (ปุ๋ยคอก) ใส่นาในปีนั้น ๓) พิธีทำบุญเฮือน เพื่อนำสิริมงคลจากพระรัตนตรัยมาสู่ที่อยู่อาศัย ๔) พิธีนำข้าวเปลือกเต็มกระบุงมาถวายวัด เพื่อแสดงความเคารพศรัทธาต่อพระสงฆ์

               ประเพณีการทำบุญเบิกฟ้าของประชาชนตำบลไพศาล อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์นั้น มีสาระสำคัญประกอบด้วย ๑) เป็นการเตรียมพร้อมที่จะลงมือทำการเกษตรได้ทันฤดูกาล เพราะเมื่อถึงเทศกาลบุญเบิกฟ้า พวกเขาย่อมได้ทำบุญให้เกิดขวัญและกำลังใจ ได้หาบปุ๋ยคอกบำรุงดิน แล้วเตรียมกายเตรียมใจและเครื่องมือให้พร้อมที่จะทำนา ๒) เป็นผู้มีความเชื่อมั่นศรัทธาต่อพุทธศาสนา เพราะได้ทำบุญเป็นประจำทุกปีทำให้รู้จักเสียสละไม่ตระหนี่ถี่เหนียว ๓) เป็นผู้มีความกตัญญูต่อผืนนา สิ่งแวดล้อม ดินฟ้าอากาศ ตลอดจนเทพต่าง ๆที่เชื่อว่าเป็นผู้บันดาลฝนและธัญญาหารมาให้

References

บรรณานุกรม
กมเลศวร ภัตตาจารย์.วรรณคดีเกี่ยวกับขนบประเพณีไทย. กรุงเทพมหานคร : สุทธิสารการพิมพ์, ๒๕๒๖.
พระอริยานุวัตร เขมจารี.“กบบ่มีปาก” บุญเบิกฟ้ามหาสารคาม.มหาสารคาม : ปรีดาการพิมพ์,๒๕๓๒.
สมปราชญ์ อัมมะพันธ์.ประเพณีและพิธีกรรมในวรรณคดีไทย.กรุงเทพมหานคร : โอ.เอส.พริ้นติ้ง, ๒๕๓๖.
เวียงงาม อินทะวงษ์.“การพัฒนากิจกรรมการเรียนแบบจิ๊กซอว์เรื่องประเพณีบุญเบิกฟ้ามหาสารคาม กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑”.สารนิพนธ์การศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต.บัณฑิตวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยมหาสารคาม,๒๕๕๐.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-03-03