การศึกษาคติธรรมที่ปรากฏในเจรียงเบรินพื้นบ้านจังหวัดสุรินทร์

ผู้แต่ง

  • พระใส สุรปญฺโญ

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์  เพื่อศึกษาความเป็นมาของบทเพลงเจรียงพื้นบ้านในจังหวัดสุรินทร์  เพื่อศึกษาคติธรรมที่ปรากฏในบทเพลงเจรียงเบรินพื้นบ้านในเขตจังหวัดสุรินทร์  เพื่อศึกษาบทบาทและอิทธิพลของบทเพลงเจรียงเบรินพื้นบ้านที่มีต่อชุมชนท้องถิ่นจังหวัดสุรินทร์  ผลการวิจัยพบว่าเพลงพื้นบ้านเจรียงเบริน วิวัฒนาการมาจากการเล่น “กัญต๊อบไก” ซึ่งมีการร้องโต้ตอบ มีดนตรีปี่อ้อประกอบ ต่อมาการเล่นชนิดนี้ ได้นำแคนเข้ามาเป่าประกอบทำนองเจรียงเบริน คล้ายๆกับหมอลำกลอน เรียกการเล่นชนิดนี้ว่า  “เจรียงเบริน”  การเล่นเจรียงเบรินมีองค์ประกอบต่างๆ คือ  ผู้เล่นชาย ๑ หญิง ๑ ดนตรีที่ใช้ประกอบคือแคน ซึ่งเป่าลายแมงภู่ตอมดอกเป็นส่วนใหญ่  สถานที่แสดงไม่จำกัดสถานที่จะเป็นที่ไหนก็ได้ที่เหมาะสม การแต่งกายแต่งแบบพื้นบ้านโบราณ ต่อมามีการพัฒนาให้หญิงนุ่งกระโปรง ชายสวมกางเกงขายาว ท่ารำจะมีท่ารำพื้นฐานคือ ท่ารำเดิน ท่ารำถอย ท่ารำเคียง ท่ารำเกี้ยว ท่ารำดีดนิ้ว และท่าเตะขา วิธีการเล่น จะเริ่มจากการบูชาครู เกริ่นครู แนะนำตนเองมีการบอกกล่าวถึงความสำคัญของงานและเจ้าภาพ แล้วเริ่มเจรียงถามตอบ เจรียงเรื่อง สุดท้ายจะเจรียงอวยพร และเจรียงลา 

 คติธรรมที่ปรากฏในบทเพลงเจรียงเบรินมีอยู่ ๒ ลักษณะคือ คติธรรมด้านหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา และคติธรรมด้านจารีตประเพณีวัฒนธรรม  คติธรรมด้านหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาในบทเพลงเจรียงเบรินจะกล่าวถึงคำสอนในเรื่องคติธรรมด้านการเมืองการปกครอง นักปกครองที่ดีจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีของปวงชนที่อยู่ใต้ปกครอง  ทำให้ผู้อยู่ใต้ปกครองเคารพนับถือยำเกรงและเชื่อถือให้ได้  และที่สำคัญคือต้องมีหลักธรรมสำหรับการปกครองบ้านเมืองด้วย  โดยเฉพาะหลักทศพิธราชธรรมซึ่งถือว่าเป็นหลักธรรมสำหรับนักปกครองที่ดี  ด้านคติธรรมประเพณีพบว่า ประเพณีที่เกิดขึ้นในเมืองไทยส่วนใหญ่มาจากพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา

ชาวไทยมีความเชื่อความศรัทธาในสิ่งที่มองไม่เห็นเป็นอันดับแรกเมื่อบ้านเมืองเจริญมากขึ้นประเพณีบางอย่างก็เสื่อมสลายหายไปตามกฎของไตรลักษณ์ ประเพณีไทยจึงมักมีหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเข้าไปสอดแทรกไว้เสมอเพื่อเป็นคติเตือนใจให้ประชาชนได้ยึดถือเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตคติธรรมที่มีคุณค่าต่อประเพณีเช่น อุปสมบท โกนจุก, งานศพ  เป็นต้น

References

บรรณานุกรม

เครือจิต ศรีบุญนาค. เจรียงเบริน : เพลงพื้นบ้านของชาวไทยเขมรสุรินทร์. คณะสังคมศาสตร์ : สถาบันราชภัฎ สุรินทร์, ๒๕๓๙ ), หน้า ๖๐.
สัมภาษณ์นายบุญคง นนทสอน. (ไทยรุ้ง) นักเจรียงท้องถิ่น. ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๖.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-03-03