ศึกษาวิเคราะห์บทบาทการเผยแผ่ธรรมของพระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล)

ผู้แต่ง

  • พระครูปิยาจารคุณ

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์   เพื่อศึกษาวิเคราะห์บทบาทการเผยแผ่ธรรมของพระพุทธเจ้า, เพื่อศึกษาบทบาทเผยแผ่ธรรมของพระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล)   และเพื่อศึกษาวิเคราะห์บทบาทการเผยแผ่ของพระราชวุฒาจารย์  (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล)  วิธีดำเนินการวิจัย  ศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พระไตรปิฎก  อรรถกถา  ตำรา  เอกสารทางวิชาการ  และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  ผลการวิจัยพบว่า

              ๑. บทบาทการเผยแผ่ธรรมของพระพุทธเจ้า  พบว่าเมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้เป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว  พระองค์ทรงคำนึงถึงการที่จะทรงแสดงธรรมโปรดประชาชน  ในเบื้องต้นพระองค์ทรงพิจารณาว่าจะโปรดแสดงธรรมดีหรือไม่  เพราะทรงเห็นว่าธรรมที่ทรงค้นพบนั้น  เป็นหลักธรรมอันล้ำลึก  แต่ก็ทรงตระหนักในหลักความจริงที่ว่า  มนุษย์มีแตกต่างจากสัตว์ทั้งปวง  มนุษย์เป็นเวไนยสัตว์  คือ  เป็นสัตว์ที่แนะนำสั่งสอนได้  แต่ถึงกระนั้นมนุษย์ก็ยังมีระดับของความแตกต่างในด้านความพร้อม  สติ  ปัญญา  ความรู้และความสามารถ  พระองค์จึงทรงเปรียบมนุษย์เหมือนกับดอกบัว ๔ เหล่า  ที่มีความแตกต่างกันในการเรียนรู้พุทธธรรม  ดังนั้นหลักการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพรพุทธะองค์จึงมีความแตกต่างกันไปตามกาลเทศะและบุคคลที่สั่งสอน  โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ

              ๒. การเผยแผ่ธรรมของพระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล) นั้น  ท่านอุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดชุมพลสุทธาวาส ในเมืองสุรินทร์  ปฏิบัติกัมมัฏฐานครั้งแรกกับหลวงปู่แอกที่วัดคอโค  ออกธุดงค์ติดตามพระอาจารย์มั่นไปทุกแห่ง จนตลอดฤดูกาลนอกพรรษา ทุกท่านปฏิบัติตามปรารภความเพียรอย่างอุกฤษฏ์แรงกล้า ปฏิบัติตามคำอบรมสั่งสอนของท่านปรมาจารย์อย่างดี  การปฏิบัติธรรมของหลวงปู่ดูลย์เป็นไป  เพื่อความสำรวม ละความกำหนัด  ละความยินดี เพื่อความดับทุกข์ตามหลักความจริง  คือ  ไตรลักษณ์ หลวงปู่ดูลย์ปฏิบัติตนเป็นเนื้อนาบุญของโลก ท่านเป็นพุทธสาวกอย่างแท้จริง ได้บำเพ็ญประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่น  และประโยชน์พระพุทธศาสนาอย่างสมบูรณ์แบบ  ท่านละสังขารขันธ์ลงตาม สภาวธรรม เมื่อ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๖

              ๓. หลักการและวิธีการเผยแผ่ของพระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล) นั้น  เป็นที่ประจักษ์กันดีว่าความเชื่อถือในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ดี  ในสิ่งเร้นลับเหลือวิสัยก็ดี  ในเรื่องฤกษ์งามยามดีต่างๆ ท่านไม่เอามาเป็นสาระในด้านจิตใจ   แต่ให้เชื่อการกระทำ   หมายถึง  การกระทำความดี  ความสุจริต  คือ  ความประพฤติชอบ  ประกอบด้วยมนุษยธรรม ทำด้วยกาย  วาจา ใจบริสุทธิ์คำสอนหลวงปู่ท่านสอนให้รักษาศีล  ให้ทาน  เจริญภาวนา  เหมือนกันหมดทุกคนการเผยแผ่ธรรมะ ท่านจะชี้แจงหลักธรรม แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ  ๑) บุคลาธิษฐานเทศนา เทศนามีบุคคลเป็นที่ตั้ง  ๒) ธรรมาธิษฐานเทศนา เทศนามีธรรมเป็นที่ตั้ง  ยกหลักธรรมเป็นข้ออรรถาธิบาย ให้คนทั้งหลายหันมาดูจิตนั่นเอง  คำสอนของพระพุทธองค์มีมากมายก็เพราะกิเลสมีมากแต่ทางที่ดับทุกข์ได้มีทางเดียว คือการปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน  และยังค้นพบธรรมะที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา  ตลอดจนรู้ซึ้งถึงแก่นแท้ของหลักธรรมทั้งหลาย  จนจับใจความอริยสัจแห่งจิต

References

บรรณานุกรม
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาบาลี ฉบับมหาจุฬาเตปิฏกํ ๒๕๐๐.
กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๕.
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.
พิสิฐ เจริญสุข. “การศึกษาเชิงวิเคราะห์สมาธิในพระพุทธศาสนาเถรวาท”. วิทยานิพนธ์อักษร
ศาสตรมหาบัณฑิต. บัณฑิตวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์, ๒๕๓๔.
ปฐม นิคมานันท์รศ. และคณะ. อตุโล ไม่มีใดเทียม. กรุงเทพมหานคร : บริษัท
อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), ๒๕๕๒.
มหามกุฏราชวิทยาลัย. พระธรรมปทัฏฐกถา แปล ๑. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย,
๒๕๓๑.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-03-03