การศึกษาคติธรรมจากพิธีกรรมงานฌาปนกิจศพ ของชุมชนตำบลเทพรักษา อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพิธีกรรมการจัดงานฌาปนกิจศพที่ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎกของพุทธศาสนาเถรวาท เพื่อศึกษาพิธีกรรมการจัดงานฌาปนกิจศพในชุมชนตำบลเทพรักษา อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ และเพื่อศึกษาวิเคราะห์คติธรรมที่ปรากฏอยู่ในพิธีกรรมงานฌาปนกิจศพของชุมชน ตำบลเทพรักษา อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์
ผลจากการศึกษาแนวคิดการตายและพิธีกรรมการจัดงานฌาปนกิจศพที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท พบว่า ความตาย คือ กระบวนการจบของชีวิต หมายถึงการสิ้นใจ, การสิ้นสภาพของการมีชีวิต ซึ่งทุกคนจะต้องประสบอย่างแน่นอน จนกล่าวได้ว่าไม่มีใครในโลกที่ไม่ตาย นอกเสียจากผู้ที่ไม่เกิดเท่านั้นที่ไม่ตาย ด้วยเหตุนี้จึงมีนักปรัชญา นักการศาสนา นักวิชาการ หลายคนพยายามที่จะค้นหาทดลองเพื่อพิสูจน์ความจริงในเรื่องการตาย ดังนั้นทัศนะต่อการตายจึงมีความแตกต่างกัน นักปรัชญามีทัศนะเชื่อว่าการตายเป็นปรากฏการณ์ของชีวิตมนุษย์ทางร่างกายเท่านั้น เมื่อมนุษย์ตายแล้วกายก็จะดับสูญไปกลายเป็นธาตุดิน แต่วิญญาณที่อาศัยอยู่ในร่างกายยังต้องดำเนินต่อไป ตามภาวะของวิญญาณ วิญญาณเป็นอมตะไม่มีวันตาย แต่อีกทัศนะหนึ่งของนักปรัชญา มองว่าความตายก็เป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งของชีวิตมนุษย์เหมือนกันแต่มนุษย์จะไม่มีวันเกิดอีกเพราะสิ้นสุดลงบนโลกนี้เท่านั้น ส่วนทัศนะทางพระพุทธศาสนาเถรวาทมองว่าการตายเป็นเรื่องสัจธรรมของชีวิตโดยแสดงแนวคิดการตายเอาไว้ เช่น องค์ประกอบของการตาย ประเภทของการตาย และสาเหตุของการตายตลอดถึงคุณและโทษของการตาย การตายแม้จะมีความหมายในเชิงลบ แต่พระพุทธศาสนามิได้มองในเชิงลบ กลับนำมาเป็นกำลังใจในการสร้างสิ่งที่ดีงามให้เกิดขึ้นในจิตใจ พระพุทธเจ้าทรงนำสิ่งที่ปรากฏอยู่ในชีวิตจริงมาเป็นอุปกรณ์ในการสอน ทรงนำเอามาเป็นเครื่องเตือนสติไม่ให้ประมาทมัวเมาในวัยในชีวิต ให้เร่งรีบขวนขวายทำคุณงามความดี และปฏิบัติธรรมบำเพ็ญเพียรให้บรรลุมรรคผลต่อไป ส่วนพิธีกรรมการจัดงานศพที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทนั้น จะเห็นได้ว่าในสมัยพุทธกาลจะจัดพิธีกรรมเกี่ยวกับการตายเฉพาะบุคคลสำคัญ เช่น พระพุทธเจ้า พระพุทธบิดา และพระพุทธสาวกบางรูป ส่วนบุคคลทั่วไปไม่ปรากฏว่ามีพิธีกรรมด้านนี้ แต่มีการจัดการเกี่ยวกับศพอย่างเรียบง่ายโดยการเผา การฝัง การทิ้งศพให้เป็นอาหารของสัตว์ การนำศพลอยแม่น้ำ และการจัดการเกี่ยวกับศพก็จะทำทันทีหลังจากที่ตายแล้ว
ผลจากการศึกษาพิธีกรรมการจัดงานฌาปนกิจศพในชุมชนตำบลเทพรักษา พบว่า ชุมชนตำบลเทพรักษา อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ และเพื่อศึกษาวิเคราะห์คติธรรมที่ปรากฏอยู่ในพิธีกรรมการจัดงานฌาปนกิจศพของชุมชนตำบลเทพรักษา อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ เป็นชุมชนชาวเขมร ประกอบด้วยชุมชน ๑๓ หมู่บ้าน โดยการเลือกกลุ่มตัวอย่างที่เป็นพระสงฆ์ ปราชญ์ชาวบ้าน สัปเหร่อ มรรคนายก หรือผู้นำชุมชน หมู่บ้านละ ๒ คน รวม ๒๖ คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสัมภาษณ์
ผลจากการศึกษาวิเคราะห์คติธรรมจากพิธีกรรมการจัดงานฌาปนกิจศพในชุมชนตำบลเทพรักษา พบว่า พิธีกรรมการจัดงานฌาปนกิจศพนั้นแม้มีพิธีกรรมมากมาย แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องความไร้สาระงมงาย เป็นเหตุให้เสียเวลาและเสียทรัพย์หาประโยชน์อันใดมิได้ เหมือนบางคนสงสัยและเข้าใจกัน แต่ความจริงแล้วพิธีกรรมต่าง ๆ เหล่านั้นล้วนมีคุณค่าทางจิตใจ ซึ่งคนสมัยก่อนมีความชาญฉลาดเป็นนักปราชญ์ ได้นำหลักธรรมทางศาสนามาผูกเอาไว้เป็นคติธรรม เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้นำไปคิดพิจารณาหาหนทางในการปฏิบัติ ที่สอดคล้องกับความจริงของชีวิตในแง่มุมของสัจธรรม ประหนึ่งทำของที่ไม่มีค่าให้มีค่า หรือทำของมีคุณค่าน้อยให้มีคุณค่ามาก พิธีกรรมการจัดงานฌาปนกิจศพนั้นมีขั้นตอนพิธีกรรมหลายอย่าง ซึ่งมีคติธรรมสอดแทรกเอาไว้ในพิธีกรรมเหล่านั้นมากมาย ซึ่งคติธรรมที่ปรากฏในพิธีกรรมการจัดงานฌาปนกิจศพของชุมชนตำบลเทพรักษา เช่น คติธรรมข้อปฏิบัติเมื่อมีคนป่วยใกล้ตาย คติธรรมที่ปรากฏในพิธีกรรมการปฏิบัติต่อศพ คติธรรมที่ปรากฏในพิธีกรรมการปฏิบัติในการสวดศพ คติธรรมที่ปรากฏในพิธีกรรมการบวชหน้าศพและนำศพไปสู่ฌาปนสถาน คติธรรมที่ปรากฏในการเผาศพ คติธรรมที่ปรากฏในพิธีกรรมการเก็บอัฐิและทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ตาย ซึ่งในแต่ละอย่างนั้นก็มีคติธรรมสอดแทรกอยู่สำหรับเป็นหลักปฏิบัติพัฒนาชีวิตของตนให้รู้ถึงสัจธรรมของชีวิตอย่างแท้จริงต่อไป
References
จิระภา นะมาตย์, “ประเพณีพระศพของเจ้านายสมัยรัตนโกสินทร์”, วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหา
บัณฑิต (คณะโบราณคดี : มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๑๓), หน้า ๒๓.
สำนักงานกองเลขาฯ เจ้าคณะอำเภอเมืองสุรินทร์. “เอกสารสำรวจประชากรวัด”. ๒๕๕๒.