ศึกษาอิทธิพลความเชื่อในการรักษาโรคด้วยพิธีกรรมโจลมะม๊วตของชาวพุทธไทย เชื้อสายเขมร อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์
คำสำคัญ:
การรักษาโรค,, มะม๊วต,, ความเชื่อ,, อิทธิพล,, พิธีกรรมบทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาเพื่อ 1) ศึกษาบริบทอำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ 2) ศึกษาโรคที่ใช้วิธีการรักษาด้วยพิธีกรรม (โจลมะม๊วต) ของชาวพุทธไทยเชื้อสายเขมรชุมชนตำบลทมอ อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ 3) ศึกษาอิทธิพลความเชื่อในการรักษาโรคด้วยพิธีกรรม(โจลมะม๊วต) ของชาวพุทธไทยเชื้อสายเขมรชุมชนทมอ อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสารและการลงพื้นที่สัมภาษณ์ แล้วนำเสนอเชิงพรรณนาวิเคราะห์
ผลการวิจัยพบว่า
บริบทอำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ พบว่าเป็นอำเภอที่มีความเจริญด้านเศรษฐกิจรองลงมาจากอำเภอเมืองสุรินทร์มีพื้นที่ในเขตปกครอง 18 ตำบล 241 หมู่บ้านประชากรที่อยู่ในอำเภอปราสาทประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธ์ เขมร ลาว กูยและจีน แต่ส่วนมากจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เขมร ประเพณีวัฒนธรรมของอำเภอปราสาทเป็นประเพณีวัฒนธรรมที่ผสมผสานระหว่างกลุ่มชาติพันธ์เหล่านี้ ทำให้อำเภอปราสาทมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมประเพณี
โรคที่ใช้วิธีการรักษาด้วยพิธีกรรม (โจลมะม๊วต) ของชาวพุทธไทยเชื้อสายเขมรชุมชนตำบลทมอ อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ พบว่า โรคที่จะทำการรักษาโดยการจัดพิธีกรรมเล่นมะม๊วตส่วนมากจะเป็นโรคที่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุไปหาหมอที่โรคพยาบาลแล้วไม่หายหรือมีอาการที่ผิดปกติจากคนไข้ทั่วไป ญาติของคนไข้ก็จะไปหาหมอพื้นบ้านหรือร่างทรงเพื่อให้เข้าทรงดูว่าเป็นคนไข้เป็นโรคอะไร ต้องทำอย่างไรจึงจะหาย เมื่อมีการเข้าทรงดูแล้ว จึงจะมีการจัดพิธีกรรมเล่นมะม๊วตโดยจะมีการสร้างปะรำพิธีขึ้นมีเครื่องเซ่นไหว้ ตามความเชื่อและมีการเล่นดนตรีร่ายรำขณะประกอบพิธี เมื่อประกอบพิธีเล่นมะม๊วตแล้วก็มีทั้งที่หายจากการเจ็บไข้และไม่หาย ซึ่งชาวบ้านก็จะเชื่อว่าเป็นเรื่องเวรกรรมของแต่ละบุคคล
อิทธิพลความเชื่อในการรักษาโรคด้วยพิธีกรรม(โจลมะม๊วต) ของชาวพุทธไทยเชื้อสายเขมรชุมชนทมอ อำเภอปราสาท พบว่าการรักษาโรคด้วยพิธีกรรมโจลมะม๊วตหรือปันโจลมะม๊วตเป็นความเชื่อที่ได้รับการสืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณที่ระบบการการแพทย์หรือโรคพยาบาลของรัฐยังไม่แพร่หลายและเจริญเหมือนปัจจุบัน แม้ปัจจุบันนี้การรักษาโรคด้วยระบบการแพทย์สมัยใหม่จะมีความเจริญและมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่ความเชื่อในพิธีกรรมการรักษาโรคด้วยการโจลมะม๊วตก็ยังมีอยู่ จากการที่ผู้วิจัยได้ศึกษาได้พบว่าความเชื่อในการรักษาโรคด้วยพิธีกรรมโจลมะม๊วตมีอิทธิพลในด้านต่างๆ ดังนี้ 1) อิทธิพลด้านความเชื่อ ประชาชนในอำเภอปราสาทบางชุมชนยังมีความเชื่อเกี่ยวกับการรักษาโรคบางอย่างด้วยการทำพิธีกรรมโจลมะม๊วตอยู่ แม้การรักษาโรคด้วยการแพทย์สมัยใหม่จะเจริญมากแล้วก็ตาม 2) อิทธิพลด้านจริยธรรมที่มีต่อประชาชนในสังคม พิธีกรรมโจลมะม๊วตทำให้เกิดจริยธรรมหรือความประพฤติที่ดีของประชาชนที่มีความเชื่อร่วมกันเช่นความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ความรักความสามัคคีช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนในชุมชน
References
พระมหาวีระ สุขแสวง. “มะม๊วต : พิธีกรรมและความเชื่อของกลุ่มคนพูดภาษาเขมรถิ่นอำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์”. ค้นคว้าอิสระ หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเขมรศึกษา. บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2550.
เชิดศักดิ์ ฉายถวิล. “ดนตรีประกอบการรักษาโรคด้วยพิธีกรรม “เรือมมะม๊วต”ของกลุ่มชาติพันธุ์เขมร กรณีศึกษาพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ”. รายงานการวิจัย. สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรมประจำปีงบประมาณ, 2550.
ทวีศักดิ์ ทองทิพย์ และคณะ. “ศาสนาและวัฒนธรรม: การใช้ประโยชน์จากอัตลักษณ์ของฐานทรัพยากรการท่องเที่ยวจังหวัดสุรินทร”. รายงานการวิจัย. สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2560.
สารภี สุขแสวง,การศึกษาวิเคราะห์พิธีกรรม การโจลมะม๊วต : กรณีศึกษาชุมชนเขมรหมู่บ้านหรือเกียน ตำบลนอกเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์, 2553.
อรอุมา เลาหพิบูลย์กุล. “วิธีการบำบัดรักษาสุขภาพเชิงพุทธบูรณาการ,บทความวิชาการ”. Journal of Yanasangvorn Research Institutes. Vol. 5 No. 2 (July-December 2014): 42.
สัมภาษณ์
สัมภาษณ์ นางสวน สมดัง บ้านทมอ อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์. 15 กรกฎาคม 2563.
สัมภาษณ์ นายชโรธร สว่างภพ บ้านขยอง ตำบลทมอ อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์.15 กรกฎาคม 2563.
สัมภาษณ์ นางตวง บุตรสาลี บ้านขยอง ตำบลทมอ อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์. 15 กรกฎาคม 2563.