วารสารมนุษย์กับสังคม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัย มหาสารคาม ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2559) มีสาระเกี่ยวกับการศึกษา วรรณกรรมไทย-ลาว วิถีชีวิต วัฒนธรรมอีสานและชุมชนสองฝั่งโขง การพัฒนาการเรียน การสอน รวมทั้งบทวิจารณ์หนังสือ

              บทความในฉบับนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการศึกษาวรรณกรรมผ่านตัวบทเรื่องสั้น ชาดก ตำนาน โดยใช้แนวคิดที่หลากหลายตามวัตถุประสงค์ เพื่อให้เห็นวิถีชีวิตและ วัฒนธรรมของผู้คนเป็นสำคัญ เริ่มจากเรื่อง “กลวิธีตอบโต้ความเป็นคนชายขอบในเรื่องสั้น รางวัลนายอินทร์อะวอร์ด” แสดงผลการศึกษาตัวละครอีสานที่พยายามตอบโต้ความเป็นคน ชายขอบ ด้วยการศึกษาเล่าเรียนเพื่อประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัว สร้างความ หมายให้กับตัวเองเพื่อเป็นพลังในการต่อสู้กับอำนาจศูนย์กลาง และให้คุณค่ายอมรับความ เป็นชนบทหรือเมืองในต่างจังหวัดมากขึ้น ด้วยกลวิธีของนักเขียนผ่านการบรรยายหรือบท สนทนาของตัวละครอีสานด้วยท่าทีและน้ำเสียงที่จริงจังจริงใจ

              วรรณกรรมแสดงให้เห็นพลังความคิด ความเชื่อของผู้คน ตลอดจนส่งผลให้เกิด ประเพณีพิธีกรรมในท้องถิ่นเป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดต่อกันมา โดยเฉพาะวรรณกรรมในรูป แบบของตำนาน จากบทความเรื่อง “การสื่อความหมายทางวัฒนธรรมในตำนานม้าคำไหล” ซึ่งเป็นตำนานท้องถิ่นที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับบุคคลและม้าพาหนะคู่กาย สะท้อนความเชื่อ ทางศาสนาและความศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อเกี่ยวกับบุคคลในอดีตกับการสร้างบ้านแปลงเมือง ให้กำเนิดพิธีกรรมทรงม้าคำไหล ซึ่งเชื่อมโยงพิธีทรงม้าและประเพณีบุญบั้งไฟเข้าในบริบท เดียวกัน เป็นประเพณีพิธีกรรมท้องถิ่นที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา ช่วยให้ผู้คนมีความรักสามัคคี มีที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ และปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของสังคม

              วรรณกรรมชาดกจากบทความเรื่อง “ความเป็นบัณฑิตและความเป็นพาลใน มโหสถชาดก” แสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างบัณฑิตและคนพาลได้อย่างชัดเจน โดย ใช้การวิเคราะห์แบบคู่ตรงข้าม แสดงคุณลักษณะของบัณฑิต คือ มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดเมตตากรุณา มีความกตัญญูกตเวที ยึดมั่นในสัจจะและไม่เห็นแก่ลาภยศ ส่วนลักษณะของ คนพาล คือ เป็นพาลเพราะลักขโมย อิจฉาริษยา อาฆาตแค้น ความหูเบา หลงใหลใน กามคุณ และโลภในลาภยศสรรเสริญ ซึ่งสอดคล้องกับอุดมการณ์ความเป็นบัณฑิตที่พึง ประสงค์ของสังคมไทยปัจจุบัน

              การศึกษาวรรณกรรมในรูปแบบของภาษิตจากบทความเรื่อง “ภาษิตลาว: สถานภาพหญิงชายกับการสื่อความหมายทางวัฒนธรรม” ทำให้เกิดความเข้าใจภาษิตลาว ที่สื่อความหมายให้เห็นวิถีวัฒนธรรมและคตินิยมในสังคม และแสดงวาทกรรมที่ปรากฏ ความเหลื่อมล้ำทางเพศ สะท้อนให้เห็นร่องรอยของการสร้างความไม่เท่าเทียมกันระหว่าง เพศ ผู้หญิงเป็นกลุ่มที่ถูกกดทับอยู่ใต้อำนาจชายเป็นใหญ่ อยู่ในสภาวะที่ด้อยกว่าทั้งในทาง สถานภาพ บทบาท สิทธิ หน้าที่ และอำนาจ ซึ่งสังคมและวัฒนธรรมต่างเป็นตัวกำหนด ทำให้มองเห็นความคิดเชิงสังคม และวัฒนธรรมในมิติที่หลากหลายซับซ้อน

              การสื่อความหมายทางวัฒนธรรมจากภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสานในบทความเรื่อง “ภูมิปัญญาพื้นบ้านอีสานในการแต่งตั้งสมณศักดิ์พระสงฆ์” เป็นการเชื่อมโยงพิธีกรรมเข้า กับความเชื่อ ซึ่งชาวอีสานบางชุมชนยังคงประกอบพิธีกรรมดังกล่าวโดยมีขั้นตอน 9 ขั้น ตอน คือ การเตรียมน้ำฮด การเจริญพุทธมนต์ ถวายผ้าไตร แห่กองฮด จัดสถานที่ การ สถาปนายศ อ่านหิรัญปัฏหรือสุวรรณปัฏ ตั้งขันบายศรี บายศรีสูตรขวัญ แต่ละขั้นตอนเป็น คติแบบโบราณล้านช้าง เมื่อมีการปฏิรูปหัวเมืองอีสานตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เรื่อยมา รัฐส่วน กลางได้กระจายอุดมการณ์แบบรัฐชาติให้ชาวอีสานนับถือพุทธศาสนาแบบรัฐส่วนกลาง ภูมิปัญญาพื้นบ้านการฮดสรงจึงค่อยเลือนหายไปตามกาลเวลา

              การศึกษาวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับนาคจากบทความเรื่อง “นาค: การ สร้างความหมายในชุมชนสองฝั่งโขง” ของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียงในชุมชนพระธาตุพนมที่ มีความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับเจ้าเฮือน 3 พระองค์ ซึ่งสืบทอดพิธีกรรมบูชาผีอารักษ์และนาค ตามคติความเชื่อแบบล้านช้าง การเปลี่ยนผ่านอำนาจการปกครองหลายสมัย ผู้คนปรับ เปลี่ยนบทบาทและสร้างความหมายใหม่ ปรากฏการณ์ทางสังคมดังกล่าวคือ ความสัมพันธ์ เชิงอำนาจระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียงกับพระสงฆ์วัดพระธาตุพนมที่มีการรื้อฟื้นพิธีกรรม บูชาสัตตนาคา ส่งผลให้กลุ่มความเชื่อดั้งเดิมถูกลดทอนอำนาจลง อย่างไรก็ตามคนกลุ่มนี้ ได้ปรับเปลี่ยนบทบาทเพื่อความคงอยู่อย่างแยบยล

              นอกจากนี้ยังมีบทความที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการเรียนการสอน 2 เรื่องคือ “การพัฒนาผลการเรียนรู้ภาษาไทยเรื่อง มหาเวสสันดรชาดก ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ด้วยการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน” พบว่าแผนการจัดการเรียนรู้ภาษาไทย มีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อน เรียน และมีความพึงพอใจต่อการเรียนด้วยกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาไทยเรื่อง มหาเวสสันดร ชาดกโดยใช้ปัญหาเป็นฐานอยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนอีกเรื่องหนึ่งคือ “การส่งเสริมการ อนุรักษ์ป่าเบญจพรรณ สำหรับนิสิตสาขาสิ่งแวดล้อมศึกษา คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม” เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยคู่มือ สื่อโปสเตอร์ แบบทดสอบความรู้ และแบบวัดทัศนคติต่อการอนุรักษ์ป่าเบญจพรรณ ผลการวิจัยพบว่า นิสิตมีความรู้ในการอนุรักษ์ป่าเบญจพรรณ คะแนนเฉลี่ยหลังการส่งเสริมมากกว่าก่อนการ ส่งเสริม และมีทัศนคติต่อการอนุรักษ์ป่าดีขึ้น

              สำหรับบทวิจารณ์หนังสือในฉบับนี้ เป็นบทวิจารณ์รวมเรื่องสั้น “หุ่นไล่กา” ของ ไพฑูรย์ ธัญญา นักเขียนรางวัลซีไรต์ ปี 2530 ผู้วิจารณ์แสดงทัศนะว่า มีความหลากหลาย ในเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก ภาษากระชับ สละสลวย ลุ่มลึก คมคาย ทำให้ผู้อ่านได้ครุ่นคิด พิจารณา เล่าเรื่องได้อย่างมีชั้นเชิง ชวนให้ติดตาม บางเรื่องนำเสนอวิถีชีวิตความเป็นมนุษย์ ความเป็นท้องถิ่น-สังคมชนบท ท่ามกลางความเป็นปัจจุบันและความเป็นคนชายขอบได้ อย่างน่าสนใจ รวมทั้งการวิพากษ์และสะท้อนสังคมได้อย่างเข้มข้น “หุ่นไล่กา” ไม่ได้เป็น เพียงรวมเรื่องสั้น ไม่ใช่หุ่นฟางกลางท้องทุ่ง หากแต่เป็นตัวแทนอีกด้านหนึ่งของมนุษย์ เป็นความจริง-ลวง และเป็นกระจกสะท้อนสังคมในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี บทความในวารสารมนุษย์กับสังคมฉบับนี้ อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างสรรค์ ส่ง เสริมความคิด ความรู้ สำหรับผู้อ่านให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ต่องาน วิชาการ งานวิจัย และงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้ต่อไป

 

                                                                                                        โสภี อุ่นทะยา

                                                                                      บรรณาธิการวารสารมนุษย์กับสังคม

Published: 2019-12-27