บทบรรณาธิการ

ในปี ค.ศ. 1973 หรือ พ.ศ. 2516 หรือเมื่อห้าสิบปีที่แล้วมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมายในดินแดนต่างๆ เหตุการณ์ที่ทำให้ผู้คนดีและเสียใจ  ปี พ.ศ. 2516 ภาพการต่อสู้กับเผด็จการทหารยังอยู่ในความทรงจำ  สงครามยอมคิบพัว (Yom Kippur) ระหว่างอาหรับและอิสราเอลนำไปสู่การลงทัณฑ์ทางเศรษฐกิจด้วยการที่ประเทศผลิตน้ำมันไม่ส่งน้ำมันให้กับเหล่าประเทศมหาอำนาจตะวันตกที่สนับสนุนอิสราเอล  ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นมาหลายเท่าตัว  เงินเฟ้อรุกลามไปทั่วทุกหัวระแหง  สงครามเวียดนามถึงแก่เวลาของการยุติ  การถอนทหารสหรัฐอเมริกากลับค่อยๆ ส่งผลสะเทือนต่อประเทศต่างๆ   ศาลสูงสหรัฐเปิดทางให้กับการทำแท้งด้วยคำตัด Roe V. Wade ชัยชนะของผู้หญิงต่อร่างกายของตัวเอง

ในซีกโลกใต้วันที่ 11 กันยายน  รัฐบาลสังคมนิยมของประธานาธิบดี Salvador Allende ถูกรัฐประหารโดย Augusto Pinochet  เผด็จการทหารชิลีภายใต้การนำของ Pinochet ทำให้ผู้คนล้มหายตายไปอย่างทารุณ   ความตายของฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายทหารและอนุรักษ์นิยมหลายพันคนคือบาดแผลทางประวัติศาสตร์ของชิลีจากการปกครองโดยทหารและเหล่าพลเรือนที่ร่วมมือกัน  ส่วนอีกหลายหมื่นคนถูกทรมาน 

ถึงแม้ว่าในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1998 Pinochet ถูกควบคุมตัวที่ประเทศอังกฤษ เพราะเป็นที่ต้องการของหมายศาลหลากหลายประเทศด้วยข้อหาฉกรรจ์  สเปนต้องการตัว Pinochet  ในปี ค.ศ. 1999 ศาลอังกฤษตัดสินส่งตัว Pinochet ไปขึ้นศาลสเปน  แต่ในปี ค.ศ. 2000 รัฐมนตรีมหาดไทย Jack Straw ของอังกฤษตัดสินใจปล่อยตัว Pinochet กลับชิลีด้วยเหตุผลทางด้านสุขภาพ  การตัดสินใจทางการเมืองของชนชั้นนำอังกฤษจึงอยู่เหนือการตัดสินของศาล

เผด็จการ Pinochet ยังได้ชื่อว่าเป็นผู้เปิดทางให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทางเสรีนิยมใหม่ผ่านเหล่านักเศรษฐศาสตร์ชิลีที่จบการศึกษามาจากมหาวิทยาลัยชิคาโก  นักเศรษฐศาสตร์ชิลีเหล่านี้เป็นที่รู้จักกันในนาม ‘Chicago Boys’ หลังจากชิลีเสรีนิยมใหม่ก็ถูกนำไปใช้ในดินแดนต่างๆ ทั่วโลก  จนทำให้ทั้งMargaret Thatcher และ Ronald Reagan กลายเป็นหัวหอกสำคัญของเสรีนิยมใหม่   

ฝ่ายสนับสนุนเผด็จการทหารกล่าวถึงความเลวร้ายของรัฐบาลมาร์ซิสของ Allende ในการทำให้เศรษฐกิจชิลีพังพินาศ  เสรีนิยมใหม่เป็น “ยา” ถอนพิษ  ความสำเร็จของชิลีในการยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจผ่านแนวทางเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่คือประจักษ์พยาน การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจคือดัชนีแห่งความภาคภูมิใจ  เศรษฐกิจชิลีดีและมีเสถียรภาพ 

ในปี ค.ศ. 2010 ในช่วงเวลาของประธานาธิบดี Michelle Bachelet ชิลีเข้าเป็นสมาชิก Organisation for Economic Co-Operation and Development หรือ OECD  ชิลีเป็นประเทศแรกของอเมริกาใต้ที่เป็นสมาชิก  แต่การเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศมีฐานะไม่ได้หมายความว่าผู้คนในประเทศนั้นๆ จะมีฐานะดีไปด้วย  ถึงแม้ว่าความยากจนจะลดลง  แต่ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันและการกระจายความมั่งคั่งยังเป็นปัญหาสำคัญ  การแบ่งขั้วทางการเมือง (political polarization) ดำเนินไปพร้อมกับการแบ่งขั้วทางชนชั้น (class polarization)  

ปัญหาการแบ่งขั้วเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ แม้กระทั่งในประเทศร่ำรวยอย่างยุโรป  เช่น สวีเดน สเปน เป็นต้น  ระดับที่อ่อนลงไปก็ได้แก่ อิตาลี เยอรมนี อังกฤษ เนเธอร์แลนด์  เป็นต้น  ความเกลียดชังต่อสถาบันพื้นฐานของสังคมการเมืองเพิ่มปริมาณมากขึ้น ประชานิยม (populism) ทั้งซ้ายและขวามีมากขึ้น  ถึงแม้ว่าการแบ่งขั้วจะปรากฏมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 แต่ความเข้มข้นทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น  การแบ่งขั้วทำให้เกิดความไม่แน่นอนซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจ 

ครั้นเมื่อรัฐไม่สามารถที่จะทำให้ผู้คนเชื่อมั่นเพราะหมดศรัทธาก็ทำให้บรรษัทขนาดใหญ่ต่างๆ ต้องออกแรงในการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสังคมหรือลูกค้า  บทบาทของ CSR (Corporate Social Responsibility) จึงเป็นรูปแบบหนึ่งของการตลาดที่จะทำให้ภาพลักษณ์ของบรรษัทต่างๆ เหล่านี้ดูน่าเชื่อถือ  ถึงแม้ว่ามือหนึ่งจะถือบัญชีธนาคาร แต่อีกมือหนึ่งถือคัมภีร์ของการเป็นคนดี  วิถีแห่งศีลธรรมจึงอยู่ในมือของบรรษัทขนาดใหญ่  เสรีนิยมใหม่ที่ให้ทุกอย่างอยู่ในวิถีแห่งเศรษฐกิจและเอกชนจึงกลายเป็นผู้ชี้ทางสว่างด้านศีลธรรมให้กับสังคมไปโดยปริยาย

สำหรับในชิลีปัญหาการแบ่งขั้วทำให้ผู้คนจำนวนหนึ่งเห็นว่าเหล่าคนรวยได้ประโยชน์จากอำนาจเผด็จการทหารที่ออกแบบไว้ผ่านรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นมาโดยเผด็จการทหาร  หนทางแก้ไขปัญหาประเทศก็คือการร่างรัฐธรรมนูญใหม่  ความพยายามในการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญเผด็จการทหารมีมาตลอด  แต่การประท้วงในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2019 จนถึงเดือนมีนาคม ค.ศ. 2020 เปิดทางให้ยอมรับประชามติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเผด็จการทหารที่ใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1980  จากการประท้วงการขึ้นราคาค่าโดยสารขนส่งสาธารณะจากเหล่าวัยรุ่นลุกลามกลับไปสู่ความพยายามในการเปลี่ยนแปลงประเทศและรัฐธรรมนูญ

แต่ในวันที่ 4 กันยายน ค.ศ. 2022 ชาวชิลีออกมาลงมติปฎิเสธรัฐธรรมนูญที่กล่าวกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ก้าวหน้า (progressive) ฉบับหนึ่งของโลก  ทั้งๆ ที่ในปี ค.ศ. 2020 คนประมาณเกือบ 80% ลงคะแนนเสียงสนับสนุนการมีรัฐธรรมนูญใหม่  แต่พอมาถึงลงมติรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ปรากฏว่าประมาณ 62% ปฏิเสธรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  ผลิตภัณฑ์ทางการเมืองของเผด็จการทหารที่มีอายุเกือบครึ่งศตวรรษยังคงดำรงอยู่ต่อไป

แต่ความพยายามในการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญเผด็จการทหารยังคงดำเนินต่อไป  เพียงแต่การเลือกตั้งที่จะให้ใครไปร่างรัฐธรรมนูญนั้นปรากฎว่าพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้เสียงไป  โดยพรรคริพับบลิกัน (Republican Party) ของ Jose Antonio Kast ได้คะแนนไปประมาณ 35%  ในขณะที่พรรคฝ่ายซ้ายของประธานาธิบดี Gabriel Boric ได้ไปประมาณ 29% ทั้งหมดเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2023  กระแสฝ่ายอนุรักษ์นิยมตีกลับ  ห้าสิบปีผ่านไปการต่อสู้ยังคงดำเนินไปอย่างดุเดือด  การต่อสู้เพื่อแย่งชิงการสร้างรัฐธรรมนูญคือความหวัง

ครั้นมองไปยังซีกโลกเหนือการกลับคำตัดสิน Roe V. Wade ของศาลสูงสหรัฐในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2022 หมายถึงพลังอำนาจของฝ่ายอนุรักษ์นิยมในสหรัฐอเมริกา อำนาจของอนุรักษ์นิยมทรงพลังมาพอที่จะหมุนเวลากลับไปสู่โลกก่อนหน้า ปี ค.ศ. 1973 พลังของศาลในการตัดสินชีวิตของผู้คนในรัฐไปจนถึงนอกรัฐกลายเป็นกลไกสำคัญ   อำนาจศาลสามารถต้านทานอำนาจทางการเมืองที่พร้อมจะเป็นเผด็จการเสียงส่วนใหญ่ได้ 

เส้นทางการปกครองโดยศาลหรือ ‘ตุลาการธิปไตย’ (juristocracy) กลายมาเป็นกลไกทางการเมืองที่สำคัญตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ยี่สิบไล่มาจนถึงต้นศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด  เพียงแต่เมื่อให้ตุลาการธิปไตยปฏิบัติการทางการเมืองก็ทำให้หนทางไปสู่ชราธิปไตย (gerontocracy) เป็นไปได้มากขึ้น  เพราะผู้อยู่ในระดับศาลสูงสหรัฐอเมริกามักจะไม่ใช่คนอายุน้อย

ธเนศ วงศ์ยานนาวา

หมายเหตุ: สำหรับผู้ที่สนใจบทความฉบับเต็มสามารถติดต่อสั่งซื้อได้ที่สายส่งเคล็ดไทย 

เผยแพร่แล้ว: 2023-08-21