ศึกษาชีวิตและบทบาทการเผยแผ่ธรรมของพระครูประสาทพรหมคุณ (หงษ์พรหมปญฺโญ) วัดเพชรบุรี อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์

ผู้แต่ง

  • พระครูสุวรรณจันทสรคุณ จนฺทสโร

คำสำคัญ:

หลักและวิธีการเผยแผ่

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้มีจุดประสงค์เพื่อ ๑) ศึกษาประวัติชีวิต ของพระครูประสาทพรหมคุณ (หงษ์พรหมปญฺโญ)  ๒) ศึกษาหลักและวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเถรวาท  ๓)  ศึกษาหลักและวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระครูประสาทพรหมคุณ (หงษ์พรหมปญฺโญ)  ผลการศึกษาพบว่า

               พระครูประสาทพรหมคุณ  (หงษ์พรหมปญฺโญ)  พระมหาเถระที่มีจริยาวัตรงดงามผู้นำความเจริญมาสู่ชนบท  พระที่พัฒนาสังคมด้วยการส่งเสริมให้อนุรักษ์ ท่านมีเมตตาต่อประชาชนที่ไปพบและขอพรจากท่านอย่างไม่เลือกคนรวยหรือคนจน พระครูประสาทพรหมคุณเป็นพระมหาเถระที่มีปฏิปทาน่าเลื่อมใส เอาใจใส่ในกิจการของคณะสงฆ์ไม่ว่าจะเป็นด้านการปกครอง การศึกษา การเผยแผ่ การสาธารณูปการ การศึกษาสงเคราะห์ และการสาธารณสงเคราะห์ ซึ่งท่านให้การช่วยเหลือเกื้อกูลมาโดยตลอด โดยเฉพาะการอนุรักษ์ป่าไม้เพื่อเอาไว้เป็นมรดกแก่ประเทศชาติ

               หลักการเผยแผ่พระพุทธศาสนานั้นมีหลากหลายรูปแบบแล้วแต่ว่าพระสงฆ์สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านจะถนัดในการเผยแผ่ด้านใด เช่น การปฏิบัติตนให้เป็นที่น่าเลื่อมใส การสนทนาธรรม การแนะนำ การตอบปัญหาข้อข้องใจ และการแสดงธรรม เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้อย่างแจ่มแจ้ง ส่วนหลักและวิธีการเผยแผ่ที่พระพุทธเจ้าทรงใช้ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนานั้นประกอบด้วย การสนทนาธรรม การตอบปัญหา การวางกฎเกณฑ์ข้อบังคับ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงใช้หลักและวิธีการดังกล่าวมานี้ตามความเหมาะสมของสถานการณ์นั้นๆ

               พระครูประสาทพรหมคุณ ท่านมีวิธีการสอนพุทธศาสนิกชนด้วยธรรมะง่ายๆ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติในชีวิตประจำวันเช่นท่านสอนให้รักษาศีล ๕ ให้มีความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ ให้ขยันในการประกอบอาชีพที่สุจริต แม้ท่านจะเป็นพระเกจิที่มีลูกศิษย์สร้างวัตถุมงคลไปให้ท่านปลุกเสก แต่ท่านก็สอนผู้ที่นำวัตถุมงคลของท่านไปบูชาว่า ให้มีศีล ๕ ถ้าไม่มีศีล ๕ แล้ว วัตถุมงคลของท่านจะไม่ขลังไม่ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ที่ได้วัตถุมงคลของท่านไปต้องมีศีล ๕ มีความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ จะเห็นได้ว่าพระครูปราสาทพรหมคุณท่านเน้นหลักศีล ๕ และความกตัญญูกตเวทีในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและการอนุรักษ์ป่าไม้เพื่อเป็นสมบัติมรดกไว้ให้แก่ลูกหลานสืบไป

References

บรรณานุกรม
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.
พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต). พุทธวิธีในการสอน.พิมพ์ครั้งที่ ๖. กรุงเทพมหานคร:บริษัทพิมพ์สวยจำกัด, ๒๕๕๖.
พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย, ๒๕๔๕.
ยุทธนันต์ ประวงษ์. อิทธิ มงคล บารมี หลวงปู่หงษ์พรหมปญฺโญ. กรุงเทพมหานคร : โรง พิมพ์สีไทย,๒๕๔๕.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-03-03