ศึกษาวิเคราะห์อมนุษย์ในมหาสมัยสูตร
บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ของการวิจัย เพื่อศึกษาอมนุษย์ในทัศนะพระพุทธศาสนา เพื่อศึกษาอมนุษย์ในสมัยสูตร เพื่อศึกษาวิเคราะห์อมนุษย์ที่มีบทบาทต่อพระพุทธศาสนาในปัจจุบัน ผลการวิจัยอมนุษย์ในทัศนะพระพุทธศาสนาพบว่า อมนุษย์คือ สัตว์ที่เกิดผุดขึ้นเอง เช่น เทวดา พรหม มาร สัตว์นรก เป็นต้น โดยอาศัยบุญและกรรมที่ตนสั่งสมไว้ครั้งเกิดเป็นมนุษย์ เมื่อสิ้นชีวิตแล้ว หากทำบุญไว้ ก็จะเข้าสู่ปรโลกในแดนสุคติภพ เช่น เกิดในสวรรค์ ส่วนผู้กระทำกรรมชั่วไว้ ก็จะไปสู่ปรโลกแดน ทุคติภพ เช่น เกิดในนรกภูมิ เป็นต้น เป็นการแสดงบทลงโทษปรามไม่ให้บุคคลทำความชั่ว และแสดงให้เห็นคุณค่าของการทำความดี
ผลการวิจัยอมนุษย์ในมหาสมัยสูตรพบว่า อมนุษย์นับเข้าอยู่จำพวกกายทิพย์ด้วยกันทุกชนิด แต่ได้แบ่งออกหลายชั้น ชั้นต่ำได้แก่นรก เปรตและอสูรกาย ชั้นที่ ๒ ได้แก่ เทวดา ๖ ชั้น รวมทั้งอมนุษย์อื่นๆ ซึ่งมีกายเป็นทิพย์ด้วย ชั้นที่ ๓ ได้แก่รูปพรหม ๑๖ ชั้น ชั้นที่ ๔ ได้แก่อรูปพรหมซึ่งเป็นชั้นสูงสุด เมื่อรวมกันเข้าทั้งหมด ก็คือโลกทิพย์โดยตรง แล้วก็แยกออกเป็นประเภทหรือชนิดต่างๆ แม้อมนุษย์เป็นสัตว์จำพวกกายทิพย์ทั้งหมดก็ตาม แต่ทว่ามีความสุขและทุกข์แตกต่างกันมากมาย เช่น สัตว์นรกได้รับทุกข์ทรมานร้ายแรงกว่าเปรต และเปรตร้ายแรงกว่าอสุรกาย ส่วนพวกเทพต่างๆ ก็แตกต่างกันอีก เช่นเทวดาในชั้นพื้นดินที่เรียกว่าภูมิเทวดามีความสุขน้อยกว่าชั้นสูงๆขึ้นไปจนถึงชั้นปรนิมมิตตสวัสดี และพรหมทั้ง ๑๖ ชั้นก็มีความสุขแตกต่างกันจนถึงชั้นที่ ๑๖ เป็นต้น
ผลการวิจัยการวิเคราะห์อมนุษย์ที่มีบทบาทต่อพระพุทธศาสนาในยุคปัจจุบันพบว่า อมนุษย์มิใช่ว่าจะดุร้าย เป็นภัยต่อมนุษย์เสมอไป ยังมีอมนุษย์หลายประเภทที่ปรากฏในพระไตรปิฎกและอรรถกถาว่า มีบทบาทในทางที่ดี เป็นผู้ใฝ่ธรรม นับถือพระพุทธศาสนามาแต่เดิม เลื่อมใสในพระพุทธองค์และบทบาทของเหล่าอมนุษย์นี้ได้มีส่วนช่วยส่งเสริมพระพุทธศาสนาในหลายด้านด้วยกัน อมนุษย์ได้มีบทบาทสำคัญในการสอนเรื่องความไม่เที่ยง กรณีของอมนุษย์มาสอนในเรื่องของความไม่เที่ยงเพื่อจะชี้ให้เห็นว่า ภพภูมิรวบกับสมบัติ ต่าง ๆ ในจักรวาลนี้ล้วนตกอยู่ในกฎของความไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงและไม่ควรยึดมั่นว่าเป็นเราเป็นเขาเพราะการยึดมั่นเช่นนั้น ย่อมเป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์นานัปการ บทบาทของอมนุษย์ทั้งหลายได้เป็นบทสอนให้ทุกคนตระหนักถึงอานิสงส์ของการรักษาศีลว่าเป็นการกระทำที่เป็นกุศลและสามารถยังประโยชน์ให้สำเร็จตามความปรารถนาได้
References
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาบาลี ฉบับมหาจุฬาเตปิฏกํ ๒๕๐๐.
กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๕.
_______________. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร
: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์. พิมพ์ครั้งที่ ๑๒.
กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๕๑.
พระวิจิตรธรรมาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร). หลักการทำบุญ และปฏิบัติธรรม ในชีวิตประจำวัน.
กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์อนันตะ, ๒๕๕๒.
พันตรี ป. หลงสมบุญ. พจนานุกรมมคธ – ไทย. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์อาทรการพิมพ์,
๒๕๔๐.