การศึกษาวิเคราะห์ขันติบารมีของพระโพธิสัตว์ในพุทธศาสนา

ผู้แต่ง

  • พระอธิการสุรพล ฐานจาโร

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้มีจุดประสงค์เพื่อ ๑) ศึกษาขันติบารมีของพระโพธิสัตว์ในพระพุทธศาสนา ๒)ศึกษาการบำเพ็ญขันติบารมีของพระโพธิสัตว์ในพระพุทธศาสนา๓) วิเคราะห์การบำเพ็ญขันติบารมีของพระโพธิสัตว์ในพุทธศาสนาเถรวาทผลการศึกษาพบว่า

               คำว่า “บารมี” หมายถึงปฏิปทาอันยวดยิ่ง คุณธรรมที่ประพฤติปฏิบัติอย่างยิ่งยวดคือความดีที่บำเพ็ญอย่างพิเศษเพื่อบรรลุซึ่งจุดหมายอันสูง เช่นความเป็นพระพุทธเจ้าและความเป็นมหาสาวกเป็นต้นพระพุทธเจ้าได้ตรัสเรื่องขันติเอาไว้ในมหาปทานสูตรว่า ขนฺตี ปรมํตโปตีติกขาเอตํพุทฺธานสาสนนฺติ ขันติความอดทนคือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง ขันตินั้นเมื่อว่าโดยลักษณะแล้วมี ๓ ลักษณะคือ ๑) ตีติกขาขันติ ความอดทนด้วยอำนาจการอดกลั้นเอาไว้ หมายความว่าสะกดข่มใจไม่ให้ลุแก่อำนาจของความโลภ โกรธ หลง ข่มเอาไว้ได้ อดกลั้นเอาไว้ได้อย่างเต็มที่ด้วยอำนาจแห่งศีล ๒) ตปขันติ ความอดทนเป็นเดชเผาผลาญกิเลสอย่างหยาบ ป้องปรามกิเลสระดับกลางด้วยอำนาจแห่งสมาธิ ๓) อธิวาสนขันติ ความอดทนจนข่มกิเลสได้ และสามารถหยุดยั้งขบวนการเคลื่อนไหวของกิเลสให้ขาดลง สูญสลายไปด้วยอำนาจแห่งวิปัสสนาปัญญา

               พระโพธิสัตว์ก็ได้แก่บุคคลที่ตั้งปณิธานจะบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระพุทธเจ้า เพื่อจะได้มีความสามารถเต็มที่ในการช่วยเหลือสรรพสัตว์ ให้พ้นจากห้วงแห่งความทุกข์พระโพธิสัตว์ในพระพุทธศาสนาเถรวาทต้องบำเพ็ญบารมีให้เต็มเปี่ยมจึงจะสามารถบรรลุเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ขันติบารมีเป็นหนึ่งในสิบบารมีที่พระโพธิสัตว์ต้องบำเพ็ญเพื่อการตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์จะต้องบำเพ็ญบารมีตั้งแต่ระดับพื้นฐาน จนกระทั่งถึงระดับสูงสุด ขันติบารมีนั้นมีตั้งแต่ขั้นธรรมดาที่เรียกว่าบารมีขั้นต้น ขันติบารมีขั้นกลาง และขันติบารมีขั้นสูง

               จากการศึกษาวิเคราะห์พบว่า การบำเพ็ญขันติบารมีของพระโพธิสัตว์นั้นมีแทรกอยู่ในการบำเพ็ญบารมีข้ออื่นๆ ของพระโพธิสัตว์เช่น ขันติกับทานบารมี หมายถึง พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญตนเป็นผู้ให้ การเสียสละแบ่งปันสิ่งของ เช่นให้ทานแก่สมณพราหมณ์ บิดามารดา เป็นต้น ก็ต้องมีขันติมาข่มความตระหนี่เอาไว้ก่อนเพราะความตระหนี่ทำให้ไม่เสียสละเอาขันติมาทำลายความตระหนี่เสียก่อนจึงทำให้เกิดความเสียสละอย่างบริสุทธิ์จะทำให้ทานบารมีเติมเปี่ยมขันติกับศีลบารมี ขันติกับวิริยบารมีและบารมีข้ออื่นๆ ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน ขันติความอดทน จึงมีแทรกอยู่ในบารมีข้ออื่นๆทั้งหมด การบำเพ็ญขันติบารมีจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบรรลุธรรม

 

References

บรรณานุกรม

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต).พุทธธรรมฉบับปรับปรุงและขยายความ. กรุงเทพมหานคร: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,๒๕๕๒.
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต).พจนานุกรมพุทธศาสตร์.พิมพ์ครั้งที่ ๑๐. กรุงเทพมหานคร : เอส.อาร์.พริ้นติ้งแมสโปรดักส์ จำกัด,๒๕๔๘.
บุญมีแท่นแก้ว. ปรัชญาฝ่ายบุรพทิศ.กรุงเทพมหานคร : โอเดียนสโตร์, ๒๕๔๕.
พระสิริมังคลาจารย์. มังคลัตถทีปนี (ทุติโย ภาโค). พิมพ์ครั้งที่ ๑๓.กรุงเทพมหานคร :
มหามกุฏราชวิทยาลัย,๒๕๓๙.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-03-03